เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ประเทศไทยร่วมกับแคนาดาและ UNIDIR จัดกิจกรรมคู่ขนาน ในหัวข้อ Further building common understanding on international law and cyberspace: Launch of Thailand’s national position ณ สำนักงานใหญ่สหประชาขาติ ณ นครนิวยอร์ก เพื่อเปิดตัวท่าทีของประเทศไทยในประเด็นการตีความและปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในมิติไซเบอร์ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการของการหารือในประเด็นการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในมิติไซเบอร์ ในห้วงการประชุม Open - ended Working Group (OEWG) on security of and in the use of informational and communications technologies (2021-2025) ครั้งที่ 11 ซึ่งเป็นกรอบการประชุมระหว่างรัฐบาลภายใต้สหประชาชาติครั้งสุดท้ายก่อนที่การประชุมดังกล่าวจะหมดอาณัติในเดือนกรกฏาคมนี้
ในโอกาสนี้ นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติได้กล่าวเน้นย้ำบทบาทสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อกำกับพฤติกรรมของรัฐในมิติไซเบอร์อย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงความสำคัญของการมีท่าทีประเทศในเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายปวีณ ธนรัช นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมเป็นผู้อภิปรายบนเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำท่าทีประเทศ การมีส่วนร่วมและความสำคัญของการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากแคนาดา โคลอมเบีย สหรัฐอเมริกา และอียิปต์ ซึ่งได้จัดทำและเผยแพร่ท่าทีประเทศไปก่อนแล้ว เข้าร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้วย
การประชุม Open - ended Working Group (OEWG) on security of and in the use of informational and communications technologies จัดขึ้นตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ ที่ 75/240 มีอาณัติในปี ค.ศ. 2021-2025 เพื่อเป็นเวทีให้รัฐสมาชิกฯ ได้ร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนากฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการควบคุมพฤติกรรมของรัฐในมิติไซเบอร์ มีประเด็นหารือเกี่ยวข้องกับการกำหนดรูปแบบภัยคุกคาม (Existing and Potential Threats) มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence Building Measures) การเสริมสร้างขีดความสามารถของรัฐ (Capacity-building) และกฎหมายระหว่างประเทศ หลังจากการประชุม OEWG หมดอาณัติจะมีการจัดตั้งกลไกถาวรใหม่ภายใต้กรอบสหประชาชาติ (future permanent mechanism) เพื่อหารือประเด็นดังกล่าวต่อไป โดยรัฐสมาชิกสหประชาชาติอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงรูปแบบและประเด็นสำคัญที่จะมีการประชุมในกรอบใหม่นี้ต่อไป