คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการบรรยายพิเศษ งาน Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today

คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการบรรยายพิเศษ งาน Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ต.ค. 2566

| 15,620 view

คำกล่าวของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ในหัวข้อ
Thailand’s Challenges: How to thrive in the rising geopolitical uncertainty

ในการบรรยายพิเศษ งาน Thailand Economic Outlook  2024 Change the Future Today

วันพุธที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๖.๐๐ น.

ณ ห้องแมกโนเลีย บอลรูม ชั้น ๑๐ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ

 

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณทางกลุ่มเนชั่น และก็ทางกรุงเทพธุรกิจที่ได้ให้เกียรติเชิญมาบรรยายในวันนี้นะครับ หัวข้อที่ได้รับมอบหมายนี้ก็คือ Thailand’s Challenges: How to thrive in the rising geopolitical uncertainty นะครับ ก็เป็นเรื่องที่ทันสมัย และเป็นเรื่องที่ชาวโลกติดตามกันอยู่นะครับ

สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่านนะครับ ผมในนามของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรู้สึกเป็นเกียรติอย่างที่ยิ่งที่ได้มาพบปะและได้มารับฟังจากกูรูทางด้านเศรษฐกิจ และกูรูทางด้านธุรกิจ

ก็รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งมากครับ

วันนี้เชื่อว่าทุกท่านได้รับฟังมุมมองที่หลากหลายจากท่านนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจากภาครัฐ และภาคเอกชน เกี่ยวกับการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในฐานะที่ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมขอนำเสนอมุมมองของการดำเนินการการต่างประเทศไทยที่จะช่วยในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เราได้พูดกันในวันนี้

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมขอย้ำว่า การต่างประเทศของไทยต้องมองไปข้างหน้าและครอบคลุมหลายมิติ เพื่อสร้างรายได้และแก้ปัญหาให้ประชาชน ทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรับมือกับความท้าทาย โดยการทูตจะต้องเป็นของทุกคน เพื่อทุกคน และเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วม นำไปสู่ประโยชน์ที่จับต้องได้ และเติมเต็มให้นโยบายภายในของไทยในทุกมิติ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ โลกวันนี้มีหลายขั้วอำนาจที่แข่งขันกันอยู่ ทั้งด้าน geo-politics ด้าน geo-economy และที่สำคัญที่เราจะละเลยไม่ได้ก็คือ ด้าน geo-technology โดยการแข่งขันดังกล่าวเป็นทั้งโอกาส และเป็นทั้งความท้าทายไปในตัว

ความท้าทายประการแรก คือ หลาย ๆ ประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เลือกข้าง โดยมีการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตรหรือที่เราเรียกกันว่า friend-shoring นะครับ คือการ “หาพวกของเรา” และ “กีดกันพวกเขา” นำมาซึ่งกรอบความร่วมมือแบบที่เป็นกลุ่ม หรือ bloc ต่าง ๆ ที่เราเห็นกันอยู่

ประการถัดมาคือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาหนี้ การลดบทบาทเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุ SDGs ซึ่งในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีและผมได้เข้าร่วม ก็ได้หยิบยกประเด็นขึ้นหารือกันอย่างกว้างขวาง

ความท้าทายสำคัญเรื่องต่อมาคือ การแข่งขันทางเทคโนโลยีที่ได้กล่าวไปแล้ว ทั้งการแย่งชิงวัตถุดิบที่สำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี การจัดเก็บและบริหารข้อมูล และความมั่นคงทางไซเบอร์

และสุดท้าย -- climate change ซึ่งเป็นประเด็นข้อกังวลร่วมกันของประชาคมโลก แต่ในขณะเดียวกัน นำไปสู่การสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของบางประเทศ ที่อาจกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ

คำถามสำคัญคือ การทูตเศรษฐกิจของไทยควรเป็นอย่างไร ภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้

การทูตเศรษฐกิจจะต้องช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและสร้างดุลยภาพในการดำเนินความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศต่าง ๆ และต้องช่วยกระจายความเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Economic Diversification” โดยสนับสนุน ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว พลังงานทดแทน บริการด้านดิจิทัล และเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพื่ออะไรนะครับ ก็เพื่อสร้างงานใหม่ ๆ ไม่พึ่งพิงเศรษฐกิจที่เป็นเศรษฐกิจเดิม ๆ อยู่ โดยผ่านการมีความสัมพันธ์กับประเทศที่มีอิทธิพลด้านการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งเป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญของไทย เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย

ขณะเดียวกัน ไทยก็ต้องเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี

ไทยต้องเร่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขยายหุ้นส่วนกับต่างประเทศ ทั้งด้านการผลิต บริการ การวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจไทย พัฒนาโครงสร้างและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

นอกจากนั้นแล้ว ไทยต้องผนึกกำลังร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เรากำลังอยู่ใน “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ซึ่งภูมิภาคนี้เป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตที่มีแรงงานที่มีศักยภาพ มีบทบาทในการเป็นนักลงทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ และกำลังก้าวขึ้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่จะทำให้เราเป็นศูนย์กลางแห่งการเจริญเติบโตของโลกในอนาคต

ไทยจะต้องสนับสนุนให้เอเชียมีเสถียรภาพ ไม่ใช่เวทีในการเผชิญหน้า แต่เป็นภูมิภาคแห่งความร่วมมือแห่งความสงบ และที่สำคัญ ไทยสนับสนุนให้อาเซียนเข้มแข็ง มีเอกภาพ และเป็นแกนกลางของความร่วมมือในภูมิภาค

ส่วนที่เป็นหน้าด่านของการดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจของไทย คงหนีไม่พ้นประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพราะการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน คือผลประโยชน์โดยตรงของพี่น้องประชาชน ล่าสุด ท่านนายกรัฐมนตรีได้เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและได้หยิบยกประเด็นการค้าข้ามแดนเป็นหนึ่งประเด็นในข้อหารือ

ในการนี้ ผมอยากจะเน้นย้ำแนวทางการขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม

หนึ่ง ไทยจะใช้การทูตเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สอดคล้องกับค่านิยมสากล ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และแสดงความพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขความท้าทายร่วมของมนุษยชาติ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สอง ไทยใช้การทูตเศรษฐกิจเป็น “หัวหอก” ของการทูตยุคใหม่ คือ เราจะต้องหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการรวมทั้งคนรุ่นใหม่ ๆ การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่ง BOI ได้มีนโยบายในการให้วีซ่าระยะยาวแก่นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวแล้ว

ไทยจะให้ความสำคัญกับประเด็นอุบัติใหม่ เช่น เศรษฐกิจสีน้ำเงินที่เกี่ยวข้องกับทะเล การกำหนดกฎระเบียบระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับเทคโนโลยี เช่น AI

ไทยจะเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับ OECD เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาล การประกอบธุรกิจ และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว

ไทยจะเร่งการเจรจา FTA ที่ยังมีความคืบหน้าไปน้อย โดยเฉพาะ FTA ที่มีมาตรฐานสูง เช่น กับสหภาพยุโรป

สาม ไทยจะขยายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ผ่านกรอบความร่วมมือทุกระดับ โดยเฉพาะกรอบที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มในการก่อตั้ง เช่น ACD ACMECS และ BIMSTEC ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประธาน รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกว่า BRICS อย่างต่อเนื่อง

สี่ ไทยจะขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการหารือเพื่อหาข้อสรุปกับทุกภาคส่วนในประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นข้างต้นที่ไทยจะต้องยกเครื่องและเรียนรู้

กระทรวงการต่างประเทศมีสำนักงานในต่างประเทศถึง ๙๗ แห่ง ซึ่งทำงานร่วมกับภาคส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ภายใต้กลไก “ทีมประเทศไทย” ในปลายปีนี้ ผมจะเชิญเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลกมาประชุมระดมสมองร่วมกัน เพื่อวางแผนและวางแนวทางขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนและเครือข่ายของประเทศไทย ให้ตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบัน 

ขออนุญาตย้ำนะครับว่า นโยบายต่างประเทศจะต้องสอดคล้องและส่งเสริมนโยบายภายในประเทศของรัฐบาล เพื่อปากท้อง ความกินดีอยู่ดี มีงานทำ และส่งเสริมให้ไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์ของการเมืองและเศรษฐกิจโลกอย่างภาคภูมิ ให้ภาคธุรกิจของไทยสามารถเติบโตได้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในบทบาทของประเทศไทยและคนไทย

ขอบคุณมากครับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ