การประชุม Asia-Pacific Directors General (APDG) Forum for the South-South and Triangular Cooperation ครั้งที่ ๕ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาติ กรุงเทพฯ

การประชุม Asia-Pacific Directors General (APDG) Forum for the South-South and Triangular Cooperation ครั้งที่ ๕ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาติ กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2566

| 2,250 view

เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการประชุม Asia-Pacific Directors General (APDG) Forum for the South-South and Triangular Cooperation ครั้งที่ ๕ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน 2566 ภายใต้หัวข้อ Digital Innovation and South-South Cooperation: Driving Sustainable Development in Asia and the Pacific โดยมีผู้แทนระดับอธิบดีและคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกเอสแคปมาเข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนการลดช่องว่างและความเหลี่อมล้ำโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผลของการประชุมครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกสมัยที่ ๘๐ ซึ่งจะมีขึ้นในปี ๒๕๖๗ ต่อไปด้วย

อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้กล่าวถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะนำประเทศไทยไปสู่ “Digital Thailand” ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินโครงการความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เช่นกัน และเห็นว่าการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น มีปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ คือ (๑) ต้องเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาปรับใช้ทำให้มีผลผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้ (๒) ต้องปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน (๓) เทคโนโลยีจะต้องเข้าถึงได้ คือ ราคาต้องเหมาะสม ใช้งานง่าย และลดข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี ดังนั้น ต้องส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและความรู้ด้านนวัตกรรมแก่ประชาชนและชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมและลดช่องว่างทางดิจิทัลของประชาชน อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ยกตัวอย่างความร่วมมือในลักษณะโครงการ เช่น โครงการ Promoting Climate Resilience in Farming Communities ในประเทศกัมพูชา ที่นำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาบริหารจัดการการเกษตร รวมถึงได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses: AITC) ซึ่งในปี ๒๕๖๗ จะมีหลักสูตรที่ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศยังได้เปิดตัวเว็บไซต์ South-South Cooperation Connector (SSC Connector) ร่วมกับเลขาธิการบริหารเอสแคป ซึ่งหน่วยงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและประเทศต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ในการค้นหาแนวปฎิบัติที่ดีของประเทศผู้ให้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศผู้รับได้มากที่สุด ไทยได้เชิญชวนประเทศต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จาก SSC Connector ซึ่งไทยได้บรรจุข้อมูลหลักสูตร AITC ของไทยประจำปี ๒๕๖๗ เข้าไว้ด้วยแล้ว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ