คำปราศรัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเนื่องในวันสหประชาชาติ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕

คำปราศรัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเนื่องในวันสหประชาชาติ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ต.ค. 2565

| 9,610 view

คำปราศรัย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสหประชาชาติ

๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕

 

พี่น้องชาวไทยที่รัก

  • วันที่ ๒๔ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ โดยตลอดระยะเวลากว่า ๗๕ ปีของการเป็นสมาชิก ไทยได้แสดงบทบาทอย่างแข็งขัน และสร้างสรรค์ พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์การระหว่างประเทศในประเด็นที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs และการแสดงบทบาทนำด้านสาธารณสุขของไทยในเวทีโลก โดยร่วมกับองค์การอนามัยโลกจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในเด็กและเยาวชน
  • ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องรับมือกับวิฤตเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหารและพลังงาน และความขัดแย้ง อีกทั้งภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวยาก และต้องการการช่วยเหลือเยียวยาผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ
  • ผมขอย้ำว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับระบอบพหุภาคี ซึ่งมีสหประชาชาติเป็นแกนกลาง รวมทั้งพร้อมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการใช้พลังและความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ มาร่วมกันออกแบบอนาคตที่ดีกว่าเดิม ผมเชื่อมั่นว่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้กรอบสหประชาชาติ จะทำให้เรารอดพ้นจากวิกฤตต่าง ๆ ทั้งความท้าทายแบบดั้งเดิมและความท้าทายรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งทำให้โลกของเรามีความสงบสุข ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี และมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล
  • สุดท้ายนี้ รัฐบาลไทยจะสนับสนุนภารกิจและวาระต่าง ๆ ของสหประชาชาติ รวมทั้งความร่วมมือกับองค์การนานาชาติอย่างแข็งขัน โดยขณะนี้ไทยได้ประกาศตัวสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปีคริสต์ศักราช ๒๐๒๕-๒๐๒๗ ผมขอย้ำว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหนทางที่จะช่วยเสริมสร้างให้โลกมีความผาสุข เป็นโลกที่น่าอยู่สำหรับพวกเราทุกคน และคนรุ่นหลังต่อไป ผมภูมิใจที่หน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง รวมถึง คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอสแคป ซึ่งผมขอแสดงความยินดีกับการก่อตั้งครบ ๗๕ ปี ในโอกาสนี้ด้วย 
  • ขอบคุณครับ

 

***************