สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00 น.

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00 น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 พ.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 พ.ค. 2568

| 70 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00 น.

ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook/TikTok live กระทรวงการต่างประเทศ

 

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS และประเทศหุ้นส่วน ครั้งที่ 10 ณ นครรีโอเดจาเนโร
  • เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS และประเทศหุ้นส่วน (BRICS Partnership Session) ในห้วงของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS ณ นครรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ตามคำเชิญของนายเมารู วีเยย์รา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
  • การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “บทบาทของโลกใต้ในการเสริมสร้างระบบพหุภาคี” (The Role of Global South in Reinforcing Multilateralism) โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในการส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพหุภาคีเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์มากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลกปัจจุบัน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกับประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การค้า การลงทุน การเงิน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข ไปจนถึงการกำกับดูแล AI (ธรรมาภิบาลสำหรับปัญญาประดิษฐ์)
  • รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งไทยมองเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งประกอบด้วยตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญของไทย 3 อันดับแรก (จีน อินเดีย และรัสเซีย) นอกจากนี้ ไทยยังมองเห็นโอกาสขยายความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพิ่มเติมในด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา การศึกษา สาธารณสุข การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเชื่อมโยงภาคธุรกิจของไทยกับกลุ่ม BRICS และที่สำคัญ
  • ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีฯ ได้มีโอกาสพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ต่าง ๆ ได้แก่ บราซิล จีน รัสเซีย และเอธิโอเปีย เพื่อย้ำเจตนารมณ์ของไทยในการยกระดับความร่วมมือกับ BRICS และหารือความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้
    • บราซิล : เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งไทยพร้อมขยายความร่วมมือทวิภาคีกับบราซิลในด้านต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข เกษตร ไปจนถึงพลังงานสีเขียว
    • จีน : มีประเด็นที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดหลายประเด็น โดยฝ่ายไทยได้ยืนยันความมุ่งมั่นสานต่อความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การค้าการลงทุน โครงการด้านคมนาคม ตลอดจนความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง
    • รัสเซีย : เป็นอีกหนึ่งประเทศผู้เล่นสำคัญในกลุ่ม BRICS ฝ่ายไทยจึงได้ใช้โอกาสนี้ผลักดันการเจรจา FTA ไทย - สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย และหารือประเด็นการขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และวัฒนธรรม
    • เอธิโอเปีย : ไทยได้เชิญผู้แทนระดับสูงจากประเทศในแอฟริกา 15 ประเทศ รวมถึงเอธิโอเปีย เข้าร่วมการประชุม Thailand Development Forum for Africa ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 11-16 พฤษภาคม 2568 ที่กรุงเทพฯ เพื่อแบ่งปันรูปแบบการพัฒนาของประเทศไทย และยินดีที่เอธิโอเปียยืนยันการเข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว อีกทั้งได้หารือประเด็นการอำนวยความสะดวกในการส่งตัวชาวเอธิโอเปียที่ถูกหลอกไปทำงานในเมียนมากลับประเทศ ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีชาวเอธิโอเปียจำนวน 135 คนที่ได้เดินทางกลับประเทศแล้ว
  • นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้เปิดกิจกรรม MUAYTHAI MASTER CLASS ที่นครรีโอเดจาเนโร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย กับสมาพันธ์มวยไทยบราซิล เพื่อสอนทักษะมวยไทยให้แก่ผู้สนใจโดยนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก และมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 300 คน

 

  1. การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินโดนีเซีย ครั้งที่ 10
  • ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 รัฐมนตรีฯ มีกำหนดให้การต้อนรับนายซูกีโยโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีมาริษฯ ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - อินโดนีเซีย ครั้งที่ 10 (10th Joint Commission Meeting between the Kingdom of Thailand and the Republic of Indonesia : JC) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
  • การเยือนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - อินโดนีเซีย
  • การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อทบทวนและติดตามผลความร่วมมือที่ผ่านมา ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในทุกมิติ รวมทั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความร่วมมือด้านการพัฒนาและวิชาการ ตลอดจนความร่วมมือในกรอบพหุภาคี
  • นอกจากนี้ การเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้ยังมีเพื่อเตรียมการสำหรับการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีปราโบโว ซูบียันโต ของอินโดนีเซียที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดยทั้งสองฝ่ายมีแผนที่จะประกาศการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในช่วงการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
  • ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ระหว่างเวลา 00-17.15 น. จะมีการแถลงข่าวร่วมของรัฐมนตรีฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ณ ห้องบอลรูม 2 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

 

  1. การประชุม OECD Southeast Asia Regional Forum ที่กรุงเทพฯ
  • ระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤษภาคม 2568 นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทย ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมการประชุม OECD Southeast Asia Regional Forum ครั้งที่ 7 ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมกับ OECD จัดขึ้น ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ที่กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “OECD และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ความร่วมมือเพื่อความเจริญรุ่งเรือง” ซึ่งรัฐมนตรีฯ จะร่วมกับเลขาธิการ OECD กล่าวเปิดการประชุมที่โรงแรม The Ritz Carlton กรุงเทพฯ
  • การประชุม OECD Southeast Asia Regional Forum เป็นเวทีหารือสำคัญภายใต้โครงการ OECD Southeast Asia Regional Programme (SEARP) ซึ่งไทยได้ร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และไทยจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จของความร่วมมือกับ OECD เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง OECD กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ไทยเริ่มกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและภาคเอกชนไทย เพิ่มรายได้และการจ้างงานที่มีคุณภาพ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในระยะยาวต่อไป

 

รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/1DvSLuLmg6/

 

* * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ