สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 14.00 น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 14.00 น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ก.ค. 2568

| 58 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

 วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 14.00 น.

ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook/TIKTOK LIVE กต.  

 

  1. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการหารือระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยนายพลพงศ์ วังแพน อธิบดีกรมอาเซียน
  • นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศหรือผู้แทนจาก 30 ประเทศและองค์กรเข้าร่วมการประชุมด้วย

  • รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะหารือเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “Inclusivity and Sustainability” ของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งจะช่วยเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 47 ในเดือนตุลาคม 2568 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

  • การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้ไทยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาคและสถานการณ์โลกที่สำคัญกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ รวมทั้งผ่านกรอบการประชุมต่าง ๆ อาทิ การประชุมอาเซียนบวกสาม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) รวม 17 การประชุม อีกทั้งรัฐมนตรีฯ จะทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-เกาหลีใต้ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้ วาระปี 2567-2570

  • รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังจะใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ ภัยความมั่นคงของมนุษย์ ปัญหาหมอกควันข้ามแดน อาชญากรรมออนไลน์ และการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งความพยายามในการรับมือกับสถานการณ์โลกที่ผันผวน และการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP)

  • นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ใช้โอกาสในการพบหารือทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะนี้มีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนจาก 30 ประเทศและองค์กรเข้าร่วม ทั้งประเทศมหาอำนาจ (เช่น จีน สหรัฐฯ รัสเซีย) และองค์กรสำคัญ เช่น EU จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพบหารือทวิภาคีกับมิตรประเทศทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน เพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การค้า การลงทุน สาธารณสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • ประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดัน ได้แก่ (1) การส่งเสริมความเป็นแกนกลางและเอกภาพของอาเซียน (2) การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (3) ความร่วมมือด้านดิจิทัล (4) การพัฒนาที่ยั่งยืน ย้ำบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (5) การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ เน้นการแก้ปัญหาภัยความมั่นคงข้ามพรมแดน อาทิ online scam อาชญากรรมไซเบอร์ และยาเสพติด ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และ (6) สถานการณ์ในเมียนมา สนับสนุนบทบาทนำของอาเซียนในระยะการฟื้นฟูหลังเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา และ สนับสนุนให้เกิดการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม

  • ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ได้แก่
  1. ส่งเสริมบทบาทนำของไทยในอาเซียน เนื่องจากการประชุม AMM/PMC เป็นเวทีสำคัญที่สะท้อนถึงบทบาทเชิงรุกและสร้างสรรค์ของไทยในเวทีอาเซียน รวมถึงแสดงความพร้อมในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม

  2. ผลักดันผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยไทยสามารถใช้เวทีนี้ผลักดันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่และอยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

  3. ต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการและภาคเอกชนไทย ให้สามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคและตลาดโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการการเจรจา Digital Economy Framework Agreement (DEFA)

  4. เสริมความมั่นคงและรับมือกับภัยคุกคามใหม่ โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด ปัญหาหมอกควัน และอาชญากรรมไซเบอร์ เป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั้งในและนอกอาเซียนเผชิญร่วมกัน

  5. ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน รวมทั้งจะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลกด้านสิ่งแวดล้อม และอาจเปิดโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนหรือโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต

  6. เสริมบทบาทไทยและอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมา

 

เกาะติดสถานการณ์

2.1 พัฒนาการสถานการณ์อิสราเอล - อิหร่าน

  • ตามที่ได้มีเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2568 และได้มีข้อตกลงหยุดยิงตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2568 นั้น พัฒนาการสถานการณ์ในภูมิภาค รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคนไทย โดยเฉพาะในอิหร่านและอิสราเอล มีดังนี้

  • ขณะนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ข้อตกลงหยุดยิงที่มีการขยายเวลามาครั้งละ 48 ชั่วโมง จนครบ 1 สัปดาห์แล้ว โดยท่าอากาศยานของอิสราเอลได้เปิดให้บริการตามปกติ และอิหร่านได้เริ่มเปิดน่านฟ้าบางส่วนของประเทศแล้ว

  • ตลอดช่วงที่ผ่านมา กระทรวงฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถานเอกอัครราชทูตในภูมิภาค ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน (Rapid Response Center: RRC) เพื่อติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอิหร่านและอิสราเอล 

  • ในอิหร่าน ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่เมือง Amol ซึ่งได้ให้บริการแก่คนไทยจำนวน 35 คนพำนักระหว่างเกิดเหตุการณ์ ขณะนี้ทุกคนได้เดินทางกลับกรุงเตหะรานอย่างปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นอีก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ก็พร้อมช่วยเหลือคนไทยในการจัดที่พักพิงชั่วคราวโดยทันที

  • นอกจากนี้ ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่เมือง Van ตุรกี ติดชายแดนอิหร่าน ได้ช่วยเหลือคนไทยจากอิหร่านที่ประสงค์กลับเมืองไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 59 ราย ทั้งกลุ่มชุมชนไทย แรงงานไทย นักศึกษา และนักท่องเที่ยว โดยศูนย์ฯ นี้จะยังดำเนินการไปอีกระยะหนึ่งเพื่อติิดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ยังประสงค์ออกจากอิหร่านในอนาคต

  • ในอิสราเอล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ร่วมกับฝ่ายแรงงาน และบริษัทผู้จ้างแรงงาน ได้ประสานงานกันในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ประสงค์กลับประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้โทรศัพท์หารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจอร์แดน เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดการผ่านด่านชายแดนสำหรับคนไทย ซึ่งส่งผลให้คนไทยสามารถข้ามแดนได้สะดวกมากขึ้น ทำให้ช่วยเหลือคนไทยกลับไทยผ่านจอร์แดนแล้วจำนวน 31 คน และอีก 8 คน จะเดินทางออกจากอิสราเอลในช่วงสุดสัปดาห์นี้

  • แม้สถานการณ์จะมีพัฒนาการในทางบวก แต่กระทรวงฯ จะยังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องโดยยังขอให้คนไทยพิจารณาใช้ความระมัดระวังในการเดินทางไปในพื้นที่ และคนไทยในพื้นที่โปรดติดตามข้อมูลข่าวสารจากสถานเอกอัครราชทูตในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

 

2.2 พัฒนาการสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา

  • รัฐบาลไทยไม่ต้องการที่จะให้ประเด็นปัญหาระหว่างรัฐส่งผลกระทบไปยังประชาชนของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น การออกมาตรการควบคุมจุดแผนแดนต่าง ๆ ของฝ่ายไทย ได้ผ่านการไตร่ตรองมาแล้วอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความปลอดภัย ความเดือดร้อน และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน และชุมชนทั้งสองฝ่าย

  • ไทยไม่ได้ปิดด่าน แต่เพิ่มความเข้มงวดสำหรับผู้ผ่านแดนของทั้งสองประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติประเทศอื่น ๆ โดยจะมีการปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความมั่นคง และความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยังคงอนุโลมการผ่านแดน โดยจะเป็นไปตามความจำเป็นด้านมนุษยธรรม

  • นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการควบคุมการผ่านแดนที่เข้มข้นของไทย เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของภูมิภาคที่สร้างความสูญเสียให้กับทั้งประชาชนไทย กัมพูชา และประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ไทยจึงมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหานี้และขอความร่วมมือจากทุกประเทศ รวมถึงกัมพูชา ในการร่วมกันขจัดขบวนการอาชญากรรมให้หมดไป

  • รัฐบาลไทยจะใช้ช่องทางที่เป็นช่องทางทางการในการสื่อสารกับรัฐบาลกัมพูชา โดยเห็นว่า การแสดงความเห็นของผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลกัมพูชาในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีเนื้อหาเชิงแทรกแซงกิจการภายในของไทยเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และขัดต่อแนวปฏิบัติสากล ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จึงขอเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชางดเว้นการกระทำดังกล่าว และหันกลับมาเจรจากับฝ่ายไทยด้วยความจริงใจและสุจริตใจ

  • ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะใช้กลไกทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดที่มีอยู่อย่างสันติ ด้วยความจริงใจและสุจริตใจ โดยยึดหลักการการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี จิตวิญญาณของความเป็นเอกภาพในอาเซียน และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และขอเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชากลับเข้ามาร่วมโต๊ะเจรจากับไทยอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้ช่องทางทวิภาคีที่มีอยู่หลายกรอบ

  • สำหรับประเด็นที่ฝ่ายกัมพูชาหยิบยกในที่ประชุมองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (L'Organisation internationale de la Francophonie: OIF) ที่กรุงปารีส ประเทศไทยประกาศไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) มาตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิทธิอธิปไตยของรัฐที่พึงปฏิบัติได้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลของ ICJ เช่นกัน

  • ที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในการจัดทำ การปฏิบัติตาม และการส่งเสริมการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งในเวทีระดับภูมิภาคและเวทีสากล ไทยเชื่อว่า แก่นแท้ของการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ คือ การนำกฎหมายดังกล่าวไปปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่เพียงคำพูดว่าเคารพ แต่ต้องปฏิบัติจริง

  • ประเทศไทยยังคงเห็นว่า สถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ควรได้รับการแก้ไขผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจที่ไทยและกัมพูชาจัดทำร่วมกันเมื่อปี 2543 (MOU2543) ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม

 

รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/1UnYQdwamS/

 

* * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ