สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 มี.ค. 2567

| 1,584 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันศุกร์ที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว

และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. สรุปผลภารกิจการเดินทางเยือนต่างประเทศของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- การเยือนเยอรมนีของรองนายกรัฐมนตรีฯ ณ กรุงเบอร์ลิน-นครเบรเมิน

  • เมื่อวันที่ ๒๑-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รองนายกรัฐมนตรีฯ เดินทางเยือนเยอรมนี เพื่อเข้าร่วมงาน OAV 123 Stiftungfest (งานประชุมธุรกิจประจำปีของสมาคมเอเชียตะวันออก) ครั้งที่ ๑๒๓ ณ นครเบรเมิน ตามคำเชิญของสมาคมภาคธุรกิจ OAV Bremen ซึ่งมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนเยอรมนีกับเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ นครเบรเมินเป็นรัฐที่มี GDP ต่อหัวสูงเป็นอันดับ ๒ ของเยอรมนี และโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ขนส่ง และท่าเรือ
  • ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวปาฐกถาเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือ ไทย-เยอรมนี ใน ๓ สาขาหลัก ประกอบด้วย (๑) ความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (๒) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยมุ่งผลักดันการจัดทำ FTA ไทย-EU ให้สำเร็จภายในปี ๒๕๖๘ และ (๓) ความร่วมมือเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  • ภารกิจอื่น ๆ ในห้วงการเยือน
    • เยี่ยมชมโรงงาน Mercedes-Benz ณ นครเบรเมิน โดยย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะผลักดันการใช้รถยนต์ EV และการลงทุนของ Mercedes-Benz ในไทย
    • กล่าวต้อนรับในกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “Thailand and Germany: Perspectives and Opportunities in the Indo-Pacific” จัดโดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินและมูลนิธิ Konrad Adenauer Stiftung (KAS) ของเยอรมนี ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกล่าวปาฐกถาและร่วมการเสวนาด้วย

- การเยือนอินเดียของรองนายกรัฐมนตรีฯ เพื่อร่วมการประชุม JC ไทย-อินเดีย ครั้งที่ ๑๐

  • เมื่อวันที่ ๒๖-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เดินทางเยือนอินเดียเพื่อเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-อินเดีย ครั้งที่ ๑๐ ร่วมกับ ดร. สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
  • ที่ประชุมมุ่งยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภายในปีนี้ และสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ และได้ประกาศเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-อินเดีย เป็น ๓.๕ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก ๑๗.๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๗๐ อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีและในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะอาเซียนและบิมสเทค รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ตะวันออกกลาง และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย ภายหลังการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามเอกสารผลลัพธ์การประชุม (Agreed Minutes) และเป็นสักขีพยานการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจด้านอายุรเวทฯ ระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยฯ กับสถาบันอายุรเวทแห่งชาติเมืองชัยปุระ ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทุนการศึกษา และบุคลากร
  • ภารกิจอื่น ๆ ในห้วงการเยือน
    • เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท Avaada ที่เมือง Bikaner รัฐราชสถาน ซึ่งบริษัท GPSC ของไทยได้ร่วมลงทุน โดย Avaada เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นการลงทุนของไทยที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียในปัจจุบัน
    • มอบนโยบายแก่ที่ประชุมทีมประเทศไทยในอินเดีย โดยย้ำบทบาทการดูแลคุ้มครองคนไทย ผลักดันการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และส่งเสริมบทบาทไทยท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบัน
    • เข้าเยี่ยมคารวะรองประธานาธิบดีอินเดีย โดยได้ทบทวนพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย-อินเดียและพร้อมมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

- ผลการนำคณะนักธุรกิจเยือนคาซัคสถานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (๒๑-๒๕ ก.พ.)

  • เมื่อวันที่ ๒๑-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รัฐมนตรีช่วยฯ ได้นำคณะนักธุรกิจไทยจำนวน ๑๓ คนจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วยอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีก การแพทย์และบริการสุขภาพ และการศึกษา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนกลุ่มพันธมิตรคาซัค-ไทย เดินทางเยือนคาซัคสถาน เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในหลายสาขา ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งสามารถเป็นประตูของไทยไปสู่ภูมิภาคเอเชียกลางได้ด้วย และถือเป็นการเยือนระดับรัฐมนตรีของไทยครั้งแรกในช่วงเกือบ ๗ ปี
  • การเยือนครั้งนี้มีการหารือและติดตามประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ไทย-คาซัคสถาน เช่น ความคืบหน้าในการจัดทำความตกลงด้านการค้า การลงทุน และการยกเว้นการตรวจลงตรา การเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพเศรษฐกิจ Eurasia (EAEU) รวมถึงความร่วมมือในกรอบการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (CICA)
  • ภารกิจด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี
    • เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน โดยได้มอบหนังสือจากรองนายกรัฐมนตรีฯ เชิญฝ่ายคาซัคสถานให้เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงฯ ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เดือนเมษายน ๒๕๖๗ นี้
    • หารือเต็มคณะร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน ซึ่งรับผิดชอบการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อหารือถึงโอกาสทางการค้าและการลงทุน และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าคาซัคสถาน
    • นำคณะพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรคาซัคสถาน ขณะที่นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยฯ ได้นำอีกคณะพบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงท่องเที่ยวคาซัคสถานในช่วงเวลาเดียวกัน
  • ภารกิจด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ
    • เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ Networking Dinner เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจของไทยและคาซัคสถาน
    • ร่วมกับ น.ส. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรอง ‘Amazing Thailand: A Glimpse of the Land of Smiles’ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย รวมถึงได้หารือกับผู้บริหารสายการบิน Air Astana ซึ่งทำการบินสู่ประเทศไทยด้วย
    • นำคณะภาคธุรกิจเยี่ยมชมและหารือกับธุรกิจและหน่วยงานที่สำคัญในภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดช่วงการเยือนฯ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร บริการสุขภาพและโรงเรียนแพทย์ กิจการค้าปลีก/modern trade และเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งได้เยี่ยมชมโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและกีฬาฤดูหนาวชั้นนำของคาซัคสถาน

 

๒. การประชุม Thailand-U.S. Strategic and Defense Dialogue ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงเทพฯ

  • เมื่อวันที่ ๒๘-๒๙ กุมภาพันธ์ ๖๗ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการหารือยุทธศาสตร์ (Strategic Dialogue: SD) ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๙ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย การหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐฯ (Defense Strategic Talks : DST) ครั้งที่ ๘ ระหว่างกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่าย และการประชุม Thailand-U.S. Strategic and Defense Dialogue หรือการประชุม ๒+๒ ครั้งที่ ๒ ร่วมกัน โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศและปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ขณะที่นาย Daniel J. Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และนาย Jedidiah P. Royal รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านกิจการความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ
  • ทั้งสองฝ่ายได้ใช้โอกาสนี้ติดตามความคืบหน้าและผลักดันความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ระหว่างกัน ตามแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ (Thailand-United States Communiqué on Strategic Alliance and Partnership) รวมทั้งแลกเปลี่ยนมุมมองทางยุทธศาสตร์ต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา
  • การประชุมทั้งสามกรอบข้างต้นถือเป็นเวทีที่สำคัญในการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และถือเป็นการติดตามผลการเยือนกรุงวอชิงตันของรองนายกรัฐมนตรีฯ ซึ่งได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

 

๓. นายกรัฐมนตรีฯ เยือนฝรั่งเศสและเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗

ฝรั่งเศส

  • นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ร่วมคณะเยือนครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปที่นายกรัฐมนตรีฯ จะเยือนอย่างเป็นทางการ
  • กำหนดการที่สำคัญ ได้แก่ การพบหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนายกรัฐมนตรีฯ จะนำเสนอ ๘ วิสัยทัศน์จุดประกายประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการบิน การขนส่ง การท่องเที่ยว และการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต พร้อมผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด นวัตกรรมอวกาศ แฟชั่น และ Soft Power ด้วย นอกจากนั้น มีกำหนดพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของฝรั่งเศส และการเข้าร่วมมหกรรม MIPIM 2024 ณ เมืองคานส์
  • ไทยกับฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ยาวนาน โดยในปี ๒๕๖๘ มีกำหนดการเฉลิมฉลองครบรอบ ๓๔๐ ปี การเจริญสัมพันธไมตรีสยามกับฝรั่งเศส ทั้งสองประเทศมีแผนจะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภายในปี ๒๕๖๗ ตามที่ระบุในแผนการสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๔) ด้วย

เยอรมนี

  • นายกรัฐมนตรีฯ จะเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ โดยมีรัฐมนตรีช่วยฯ ร่วมคณะเยือนครั้งนี้ด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนีที่นานกว่า ๑๖๐ ปี รวมทั้งเป็นการต่อยอดจากการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีเยอรมนี เมื่อวันที่ ๒๔-๒๖ มกราคม ๒๕๖๗ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยเยือนเยอรมนีครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ และนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเยือนไทยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๙
  • กำหนดการที่สำคัญ ได้แก่ การพบหารือกับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี การกล่าวปาฐกถาหลักในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (BVMW) เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้านนโยบายเศรษฐกิจ และการพบหารือกับภาคเอกชนเยอรมนีที่สำคัญในรูปแบบ one-on-one เพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
  • การเยือนเยอรมนีในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตความสัมพันธ์ และโอกาสสำหรับไทยและเยอรมนีที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกัน โดยเยอรมนีเป็น ๑ ใน ๑๐ ประเทศยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทย เป็นคู่ค้าอันดับ ๑ ของไทยในสหภาพยุโรป โดยในปี ๒๕๖๖ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า ๑.๖ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (BVMW) เป็นองค์กรอิสระทางการเมืองที่ปกป้องและผลักดันผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก SMEs ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวนกว่า ๕๕,๐๐๐ บริษัท และมีสมาคมเครือข่ายกว่า ๓๐ องค์กร และองค์กรเครือข่ายรวมกันจำนวนกว่า ๙ แสนบริษัท และมีสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศทั่วโลก ๔๐ แห่ง

 

๔. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- รองนายกรัฐมนตรีฯ เข้าร่วมการประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย ณ นครเมลเบิร์น

  • รองนายกรัฐมนตรีฯ จะร่วมคณะที่นำโดยนายกรัฐมนตรีฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียสมัยพิเศษ (ASEAN - Australia Special Summit) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๔-๖ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ นครเมลเบิร์น ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย โดยมีผู้แทนระดับสูงอื่นร่วมคณะด้วย ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และเลขาธิการ BOI
  • นายกรัฐมนตรีฯ จะร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงความเชื่อมโยง การพัฒนาสีเขียว ความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงดุลอำนาจในภูมิภาค โดยเป้าหมายในการเข้าร่วมของไทยในครั้งนี้คือการส่งเสริมการค้าการลงทุนและการพัฒนาทั้งในระดับทวิภาคีและในอาเซียน อีกทั้งจะผลักดันให้ออสเตรเลียมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างสันติภาพในภูมิภาค
  • รองนายกรัฐมนตรีฯ มีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย บริษัท Toyota Australia เพื่อหารือเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ EV ร่วมในการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีฯ กับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีฯ กับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ รวมถึงติดตามความเป็นอยู่ของช้างไทยที่สวนสัตว์นครเมลเบิร์น ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด ๘ เชือก โดยไทยได้มอบช้าง ๓ เชือกให้แก่ออสเตรเลียเมื่อปี ๒๕๔๙

- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมคณะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

  • เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รัฐมนตรีช่วยฯ ได้เดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อร่วมคณะของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ ๑๓ (World Trade Organization Ministerial Conference 13: MC13) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้ร่วมผลักดันผลประโยชน์ของไทย รวมถึงสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี (Multilateral Trading System) ที่มี WTO เป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก

 

๔. ไทยลงสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก จ. นครราชสีมา (Korat Expo 2029)

  • ระหว่างวันที่ ๓-๗ มีนาคม ๒๕๖๗ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Produces- AIPHA) จะจัดการประชุม General Meeting 2024 ที่กรุงโดฮา การ์ตา และจะลงคะแนนรับรอง (approval) จากประเทศสมาชิก ๓๒ ประเทศ เพื่อเลือกประเทศเจ้าภาพในการจัดนิทรรศการพืชสวนโลก ปี ค.ศ. ๒๐๒๙
  • ระยะเวลาการจัดงานที่ไทยเสนอ คือ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๗๒ - ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๗๓ รวม ๓ เดือน ๑๘ วัน โดยตั้งเป้าผู้เข้าชมงาน ๒.๖-๔ ล้านคน ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงาน ๓๖,๐๐๐ อัตรา และคาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า ๑๘,๙๐๐ ล้านบาท โดยไทยจะนำเสนอประเด็นหลัก ๒ เรื่อง ได้แก่ (๑) การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาของมนุษย์กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการมีชุมชนเมืองสีเขียว การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ความเชื่อมโยงของธรรมชาติกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม และ (๒) ความก้าวหน้าทางการเกษตรและการผลิตอาหาร ผ่านการนำเสนอของจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะศูนย์กลางด้านการเกษตร ผนวกกับศักยภาพเมืองแห่งจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE City) และเป็นหนึ่งในเมือง Triple Crown ของ UNESCO ซึ่งคือเมืองที่มีมรดกโลก ๓ รูปแบบในเมืองเดียวกัน ได้แก่ (๑) มรดกโลก (World Heritage) ซึ่งโคราชมีป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (๒) พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve Area) ซึ่งโคราชมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และ (๓) อุทยานธรณีโลก (Geo Park) ซึ่งปัจจุบัน มีเพียง ๔ ประเทศเท่านั้นที่ได้รับสถานะดังกล่าว คือ จีน เกาหลีใต้ อิตาลี และไทย
  • ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนส่งกำลังใจไปช่วยให้ประเทศไทยและจังหวัดนครราชสีมาได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพงาน Korat Expo 2029 โดยกระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งผลการสมัครเป็นเจ้าภาพงานฯ ให้ทราบต่อไป

 

๕. กิจกรรมนำคณะทูตานุทูตต่างประเทศประจำ ปทท. ศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ จ.เชียงราย

  • เมื่อวันที่ ๑๙- ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ กระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรส จาก ๔๐ ประเทศ จำนวน ๖๐ คน เดินทางไปทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในจังหวัดเชียงราย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ และศึกษาการดำเนินการของโครงการต่าง ๆ
  • คณะทูตฯ ได้ศึกษาดูงานโครงการในพระราชดำริและโครงการสำคัญในพื้นที่ อาทิ โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” ณ ไร่แม่ฟ้าหลวง
  • กรมพิธีการทูตดำเนินโครงการนำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรสเดินทางไปทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕

 

ประเด็นเพิ่มเติม

๑. คู่มือแนะนำคนไทยที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่จีน

  • ตามที่การยกเว้นการตรวจลงตราไทย-จีนมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันนี้ (๑ มีนาคม ๒๕๖๗) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้จัดทำคู่มือเดินทางในจีนสำหรับนักท่องเที่ยวไทย แนะนำว่า ควรให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ของจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากที่อาจต้องเจอระหว่างการเดินทาง เช่น ห้ามทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ห้ามพำนักในจีนด้วยวีซ่าผิดประเภทหรืออยู่เกินอายุวีซ่า ห้ามถ่ายภาพในสถานที่ต้องห้าม และห้ามนำสิ่งเสพติดเข้าประเทศ เป็นต้น รวมถึงแนะนำให้เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง ทั้งคำนวนระยะเวลาพำนักไม่ให้เกินระยะเวลายกเว้นวีซ่า ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อการใช้จ่าย การเดินทางโดยระบบขนส่งต่าง ๆ การติดต่อสื่อสาร การแปลภาษา และการลงทะเบียนเมื่อเข้าที่พัก เพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวในจีนราบรื่น
  • หากคนไทยประสบปัญหาใด ๆ ในจีน สามารถติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง และสถานกงสุลใหญ่ในหลาย ๆ เมืองของจีนได้ตลอดเวลา โดยหมายเลขฉุกเฉิน สอท. คือ +๘๖-๑๕๗ ๒๗๓๑ ๒๕๓๑ และสามารถ download คู่มือการท่องเที่ยวจีนดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตฯ (thaiembbeij.org) หรือเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตฯ

๒. คำแนะนำคนไทยที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไต้หวัน

  • สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยแนะนำให้นักท่องเที่ยวไทยซื้อประกันภัยทุกครั้งก่อนการเดินทาง เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในอัตราที่สูงมาก ในกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหันระหว่างการเดินทาง โดยเตือนให้วางแผนการเดินทางและระยะเวลาท่องเที่ยวให้รอบคอบ เนื่องจากตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๗ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันจะปรับนโยบายเกี่ยวกับค่าปรับผู้พำนักที่อยู่เกินกว่าได้รับอนุญาต (overstay) จาก ๑๐,๐๐๐ เป็น ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์ไต้หวัน

๓. ชาวเมียนมายื่นขอรับวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

  • ล่าสุดสถานการณ์การยื่นขอวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งดีขึ้นตามลำดับ โดยไม่มีผู้มารอคิวจำนวนมากหน้าสถานเอกอัครราชทูตฯ และระบบคิวออนไลน์ในการยื่นขอวีซ่าที่เคยเต็มก็เริ่มมีที่ว่างบ้างแล้ว

* * * * *

รับชมแถลงข่าวย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/375883438637032/

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ