สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,491 view

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

. แถลงการณ์ไทยต่อสถานการณ์ในยูเครน และความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทยในยูเครน

  • กต.ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕ ว่า (๑) ไทยติดตามพัฒนาการในยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการทวีความตึงเครียดในยุโรป ด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง และ (๒) ไทยสนับสนุนความพยายามที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อแสวงหาการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติผ่านการหารือ
  • รมต.ตปท.อาเซียนได้ออกถ้อยแถลงต่อสถานการณ์ในยูเครนเมื่อ ๒๖ ก.พ. ๒๕๖๕ (๑) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการหารือผ่านทุกช่องทาง รวมถึงช่องทางการทูต เพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดความตึงเครียด และแสวงหาการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ หลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ และสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (๒) เชื่อว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับการหารืออย่างสันติเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์อยู่เหนือการควบคุม เพื่อให้สันติภาพ ความมั่นคง และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวกันดำรงอยู่ต่อไป จึงนับเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่ายที่จะยึดมั่นหลักการของการเคารพซึ่งกันและกันในอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และสิทธิที่เท่าเทียมกันของทุกชาติ
  • ออท.ผทถ.ไทยประจำสหประชาชาติกล่าวต่อที่ประชุมสหประชาชาติใน ๒ วาระ ดังนี้ (๑) ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ. ๒๕๖๕ และ (๒) การประชุมสหประชาชาติสมัยพิเศษ (UNGA Emergency Special Session) ครั้งที่ ๑๑ เมื่อวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
    • ไทยสนับสนุนความพยายามในการหาทางยุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสันติผ่านการเจรจาที่เป็นไปตามกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยธำรงไว้ซึ่งหลักการว่าด้วยอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และสนับสนุนการเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการหาทางยุติเรื่องนี้อย่างสันติวิธี รวมถึงความพยายามของสหประชาชาติและกลไกในระดับภูมิภาค
    • ไทยชื่นชมเพื่อนบ้านของยูเครนและชาติอื่น ๆ สำหรับการระดมความช่วยเหลือไปสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยจะทำอย่างสุดความสามารถในการที่จะช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบโดยจะส่งความช่วยเหลือโดยตรงและผ่านความร่วมมือกับชาติต่าง ๆ ที่เห็นตรงกัน
    • ไทยสนับสนุนการหยุดยั้งการใช้กำลังหรือการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังต่อรัฐอื่น ดังนั้น เราเรียกร้องขอให้ยุติความรุนแรงและการใช้อาวุธทันที ยิ่งสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและผลกระทบต่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของคนทั่วโลก ซ้ำเติมการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ ที่ยิ่งเปราะบางอยู่แล้ว
    • ไทยเรียกร้องให้มีการเจรจาพูดคุยเพื่อหาข้อยุติที่ยั่งยืนผ่านองค์การสหประชาชาติ กลไกภูมิภาค หรือกลไกอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับ
  • ปท.สมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ลงมติรับข้อมติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๑๑) เมื่อวันที่ ๒ มี.ค. ๒๕๖๕ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๑๔๑ เสียง (รวมถึงไทย) ไม่เห็นด้วย ๕ เสียง (เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย เอริเทเรีย และรัสเซีย) และงดออกเสียง ๓๕ เสียง จากทั้งหมด ๑๘๑ ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ยืนยันถึงอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนภายในพรมแดนยูเครน เรียกร้องให้รัสเซียหยุดใช้กำลัง และถอนกองกำลังออกจากยูเครนโดยทันที
  • ไทยมีคำอธิบายการลงมติ (Explanation of Vote) สรุปได้ ดังนี้ (๑) ไทยตัดสินใจลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างข้อมติดังกล่าว เนื่องจากไทยให้ความสำคัญกับหลักการที่บรรจุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังต่อรัฐ (๒) การให้การสนับสนุนร่างข้อมตินั้น สะท้อนความห่วงกังวลอย่างยิ่งของไทย ต่อพลเรือนที่ได้รับผลกระทบ และผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากการเผชิญหน้าและความรุนแรงในพื้นที่ และ (๓) ไทยมีความกังวลกับผลกระทบในระยะยาวต่อระเบียบโลกที่ต้องตั้งบนพื้นฐานของกฎระเบียบ ไทยจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายส่งเสริมการเจรจาหารือรูปแบบต่าง ๆ เพื่อหาข้อยุติสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างสันติ เป็นท่าทีของประเทศไทยที่ได้แสดงในสหประชาชาติ

ความคืบหน้าการอพยพคนไทยจากยูเครน                                              

  • เมื่อวันที่ ๒ และ ๓ มี.ค. ๒๕๖๕ สอท. ณ กรุงวอร์ซอได้ประสานงานเพื่ออพยพคนไทยออกจากโปแลนด์และโรมาเนีย รวมทั้งสิ้น ๑๓๖ คน โดยมีผู้บริหารกรมการกงสุลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อนรับและอำนวยความสะดวกที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
    • คณะคนไทยชุดที่ ๑ จำนวน ๓๘ คน เดินทางโดยเครื่องบินออกจากกรุงบูคาเรสต์ เมื่อวันที่ ๑ มี.ค. ถึงประเทศไทยโดยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG923 เมื่อวันที่ ๒ มี.ค. เวลา ๐๖.๒๕ น.
    • คณะคนไทยชุดที่ ๒ จำนวน ๕๘ คน เดินทางโดยเครื่องบินออกจากกรุงวอร์ซอ เมื่อวันที่ ๒ มี.ค. เดินทางถึงประเทศไทยโดยสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบิน EK384 วันที่ ๒ มี.ค. เวลา ๑๒.๐๕ น.
    • คณะคนไทยชุดที่ ๓ จำนวน ๔๐ คน เดินทางโดยเครื่องบินออกจากกรุงวอร์ซอ เมื่อวันที่ ๒ มี.ค. เดินทางถึงประเทศไทยโดยสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบิน EK384 วันที่ ๓ ธ.ค. เวลา ๑๒.๐๕ น.
  • สำหรับคนไทยบางส่วนที่ยังไม่แจ้งความประสงค์ในการเดินทางกลับเนื่องจากมีคู่สมรสชาวยูเครน ประสงค์อยู่ต่อกับครอบครัว/นายจ้าง และบางส่วนที่ยังต้องอยู่ในเมืองที่พำนักและไม่สามารถเดินทางออกมาได้เนื่องจากมีการประกาศปิดเมืองหรือสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย รวมจำนวน ๓๙ คน จากการตรวจสอบข้อมูลกับกลุ่มคนไทยที่ยังติดค้างอยู่ในเมืองต่าง ๆ ทราบว่า ทุกคนยังปลอดภัย
  • สถานะคนไทยในยูเครน ๒ มี.ค. ๒๕๖๕ (เวลา ๒๓.๓๐ น.)
  • คนไทยในยูเครนที่แสดงความประสงค์กลับไทย ๒๑๙ คน (จาก ๒๕๖ คน)
  • อพยพออกจากยูเครนแล้ว ๒๐๓ คน
  • เดินทางถึงไทย (รวมวันที่ ๓ มี.ค.) ๑๓๖ คน
  • รออพยพกลับไทย ๕๙ คน
  • ยังออกจากยูเครนไม่ได้ ๘ คน
  • ประสงค์อยู่ในยูเครนต่อไป ๓๑ คน

 

. ผลการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นรม. มาเลเซีย (๒๔ - ๒๖ ก.พ. ๒๕๖๕)

  • นรม.ได้พบหารือกับดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นรม. มาเลเซีย และคณะ ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่เดินทางเยือนประเทศไทยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
  • นรม. ทั้งสองแสดงเจตนารมณ์ยกระดับความสัมพันธ์ไทยและมาเลเซียสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้น และจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทั้งสองได้เห็นพ้องกันที่จะผลักดันการเปิดการเดินทางระหว่างกันสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสโดยไม่ต้องกักกันโรคในโอกาสแรก รวมทั้งการยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ แบบดิจิทัลร่วมกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศระหว่างกันต่อไป รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการส่งเสริมความเชื่อมโยงชายแดน เช่น การสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งใหม่ ๒ แห่ง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกัน
  • รนรม./รมว.กต.เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ดาโตะ ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รมว.กต.มาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายหารือแนวทางกระชับความสัมพันธ์ และพร้อมผลักดันโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงต่าง ๆ ตามที่ นรม.ทั้งสองฝ่ายหารือกันไว้ให้มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและบทบาทของอาเซียน

 

. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (๒๐ - ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕)

  • รนรม./รมว.กต.เยือนฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo-Pacific) โดยฝรั่งเศสในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Presidency of the Council of the EU) ในช่วงเดือน ม.ค. - มิ.ย. ๒๕๖๕ เป็นเจ้าภาพ โดยมี รมต. ตปท.เข้าร่วม ๕๖ ประเทศ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้
  • รนรม./รมว.กต.เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมรายสาขาในเวทีประเด็นระหว่างประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทร ความหลากหลายทางชีวภาพ สาธารณสุข และนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของไทยในการรับมือกับประเด็นท้าทายระดับโลกเพื่อความเจริญที่ยั่งยืนและครอบคลุม รวมทั้งได้กล่าวถึงบทบาทไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคในปีนี้
  • รนรม./รมว.กต.ลงนามแผนการสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๔) กับนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง (Jean-Yves Le Drian) รมว.กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสภายในปี ๒๕๖๗
  • ไทยขอบคุณฝรั่งเศสที่บริจาควัคซีนไฟเซอร์จำนวน ๔๐๐,๑๔๐ โดส ซึ่งคาดว่าจะจัดส่งมายังไทยในเดือน มี.ค. ๒๕๖๕ และขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน และการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป
  • รนรม./รมว.กต.ได้พบหารือทวิภาคีกับ รมว. กต. และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ อาทิ
  • นางมาริส เพย์น รมว.กต.ออสเตรเลีย เรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ออสเตรเลีย ๗๐ ปี และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้
  • นางนาไนอา มาฮูทา รมว.กต.และการค้านิวซีแลนด์ ประเด็นความร่วมมือทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนและกรอบ ACMECS และกระชับความสัมพันธ์ที่ดำเนินมากว่า ๖๕ ปี และการฟื้นฟูจากผลกระทบโควิด-๑๙ ความร่วมมือในสาขาที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และแผนเศรษฐกิจ ๓๐ ปีของนิวซีแลนด์ (New Zealand Economic Plan)
  • นายฟรานส์ ทิมเมอร์มานส์ รองประธานบริหารคณะกรรมาธิการยุโรปด้านแผนปฏิรูปสีเขียว ไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕
  • รนรม./รมว.กต.เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกระบวนการบาหลี (Bali Process Steering Group) ร่วมกับ รมว.กต. อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อันเป็นเวทีหารือระดับภูมิภาค เพื่อการจัดการกับการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ การลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติด้วย

 

. การเยือนประเทศไทยของปลัด กต. บังกลาเทศ (๑ มี.ค. ๒๕๖๕)

  • นายมาซุด บิน โมเมน (Mr. Masud Bin Momen) ปลัด กต.บังกลาเทศ เดินทางเยือนไทยเพื่อเป็นประธานการประชุมหารือทวิภาคี (Bilateral Consultations) ไทย - บังกลาเทศ ครั้งที่ ๒ ร่วมกับปลัด กต.
  • ที่ประชุมฯ หารือแนวทางพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน การเมืองความมั่นคง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาความเชื่อมโยง โดยฝ่ายบังกลาเทศมองไทยเป็นต้นแบบการพัฒนาในหลายด้าน และสนใจเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับใช้ สองฝ่ายยังสนับสนุนความร่วมมือในกรอบพหุภาคีที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation - BIMSTEC) ซึ่งไทยจะเป็นประธานในระหว่างปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖
  • ภายหลังการประชุม ปลัด กต.บังกลาเทศเข้าเยี่ยมคารวะ รนรม./รมว.กต. ขอบคุณที่ฝ่ายไทยอำนวยความสะดวกในการอพยพคนบังกลาเทศในไทยกลับประเทศ รวมทั้งในการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ให้แก่ชาวบังกลาเทศที่พำนักอยู่อาศัยในไทย
  • ทั้งสองฝ่ายได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - บังกลาเทศ ครบรอบ ๕๐ ปี ซึ่ง สอท. ณ กรุงธากา ออกแบบร่วมกับ กต. บังกลาเทศ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ฯ ตลอดปี ๒๕๖๕

 

. การปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยในรูปแบบ Test and Go

  • ที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ. ๒๕๖๕ ปรับมาตรการ ดังนี้
  • การตรวจหาเชื้อในครั้งที่ ๒ ขณะอยู่ไทยในวันที่ ๕ เปลี่ยนจากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นการตรวจ ATK ด้วยตนเอง และรายงานผ่านแอพลิเคชั่นหมอชนะ โดยผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ไม่ต้องจองโรงแรมในคืนที่ ๕ ที่อยู่ในไทย
  • ปรับลดวงเงินกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล จาก ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เป็น ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้มีสัญชาติไทยไม่ต้องมีประกัน รวมทั้งชาวต่างชาติสามารถใช้เอกสารประกันสังคมหรือเอกสารรับรองจากนายจ้าง/ หน่วยงานในไทยแทนได้
  • การเปลี่ยนแปลงข้างต้น มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ เป็นต้นมา โดยผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ยังต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://tp.consular.go.th/ โดยกรุณาเผื่อเวลาลงทะเบียนก่อนเดินทางอย่างน้อย ๓-๗ วัน ทั้งนี้ เงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรการ Test and Go อื่น ๆ ยังคงเหมือนเดิม
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข hotline กรมการกงสุล โทร (66) 02 572 8442 (ตลอด ๒๔ ชั่วโมง) อีเมล: [email protected] 

Thailand Pass FAQs : https://consular.mfa.go.th/th/content/thailand-pass-faqs-2

 

. การปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น/สิงคโปร์/อิสราเอล

    ๖.๑ ญี่ปุ่น

  • ตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้ปรับมาตรการเข้าเมืองที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้
  • ผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สายพันธ์ุโอไมครอน (รวมถึงประเทศไทย) ต้องกักตัวที่บ้านพักเป็นเวลา ๗ วัน แต่หากได้รับวัคซีนอย่างน้อย ๓ เข็ม ตามเงื่อนไขของทางการญี่ปุ่น จะผ่อนผันการกักตัวได้
  • วัคซีนที่ญี่ปุ่นรับรองสำหรับการผ่อนผันระยะเวลากักตัว ได้แก่
    • วัคซีน ๒ เข็มแรก Pfizer, Astrazeneca, Moderna หรือ Johnson & Johnson ๑ เข็ม เท่านั้น
    • วัคซีนเข็มที่ ๓ ได้แก่ Pfizer และ Moderna เท่านั้น
  • ขณะนี้ ญี่ปุ่นอนุญาตให้กลุ่มชาวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ เฉพาะผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นใหม่เพื่อพำนักในญี่ปุ่นระยะยาว และผู้เดินทางระยะสั้น (ต่ำกว่า ๓ เดือน) เพื่อดำเนินธุรกิจและทำงาน โดยนักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook: สอท. ณ กรุงโตเกียว

 

.๒ สิงคโปร์

  • ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๖๕ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าเมือง และการขยายการจัดทำช่องทางพิเศษ (Vaccinated Travel Lane – VTL) ทั้งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก สรุปมาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้
  • สิงคโปร์จัดกลุ่มประเทศต้นทางตามความเสี่ยง ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงต่ำ กลุ่มเสี่ยงกลาง (ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้) และกลุ่มเสี่ยงสูง
  • ผู้เดินทางจากประเทศไทย (รวมทั้งนักท่องเที่ยว) สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว ผ่านช่องทาง VTL แต่หากเดินทางเข้าด้วยช่องทางปกติต้องกักตัวเป็นเวลา ๗ วัน ที่บ้านพักหรือโรงแรม โดยผู้เดินทางต้องแสดงผล RT-PCR หรือ ART (ATK) เป็นลบ ภายในไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมงก่อนเดินทาง และตรวจ PCR อีกครั้งในวันที่ ๗ ของการกักตัว
  • สอท. ณ สิงคโปร์ ได้จัดทำรายละเอียดมาตรการเดินทางเข้าเมืองล่าสุดของสิงคโปร์ บนเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (https://thaibizsingapore.com/news/%e0%b8%81/directions/travel-measure-sg/)

 

.๓ อิสราเอล

  • ตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ รัฐบาลอิสราเอล ประกาศผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าอิสราเอล โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติจากทุกประเทศ สามารถเดินทางเข้าอิสราเอลทางอากาศได้ โดยต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR เป็นลบที่ออกภายใน ๗๒ ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง และตรวจ RT-PCR อีกครั้งเมื่อเดินทางถึงอิสราเอล หากผลออกมาเป็นลบไม่ต้องกักตัว
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook: Royal Thai Embassy, Tel Aviv

 

. ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในกัมพูชา

  • เมื่อเช้าวันที่ ๒ มี.ค. ๒๕๖๕ สอท. ณ กรุงพนมเปญ ได้ส่งคนไทยและบุคคลที่ถือเอกสารที่ออกโดยทางการไทย จำนวน ๕๖ คน ซึ่งถูกหลอกลวงมาทำงานผิดกฎหมายในกัมพูชา เดินทางกลับประเทศไทย ทางด่านปอยเปต-คลองลึก อ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว
  • กต.ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งไทยและกัมพูชา ที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อป้องกันคนไทยจากการถูกหลอกลวง มา ณ ที่นี้

 

. ผลการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)

  • เมื่อวันที่ ๑๕ ก.พ. ๒๕๖๕ ครม.มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) คนปัจจุบัน ให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยฯ ต่ออีก ๑ วาระ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ก.พ. ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๒๕๖๗
  • ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมราฯ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตลอดช่วง ๓ ปีที่ปฏิบัติหน้าที่ใน AICHR โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ประธาน AICHR เมื่อปี ๒๕๖๒ โดยผลักดันการส่งเสริมประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การเชื่อมโยงประเด็นสิทธิมนุษยชนกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประเด็นสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมสิทธิของผู้พิการ รวมทั้งยังได้ทำงานใกล้ชิดกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

. กรมการกงสุลเปิดให้บริการรับรองนิติกรณ์เอกสารเพิ่ม ๒ แห่ง

  • กต. โดยกรมการกงสุล เปิดให้บริการรับรองเอกสารราชการสัญชาติและนิติกรณ์ สำเนาเอกสาร และลายมือชื่อบุคคล เพิ่มเติมอีก ๒ แห่ง ได้แก่
    (๑) สนง.หนังสือเดินทางชั่วคราว ภูเก็ต ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลภูเก็ต เฟสติวัล ชั้น B เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๗๖ ๒๒๒ ๐๘๐ ถึง ๘๑
    (๒) สนง.หนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (MBK Center) ชั้น ๕ โซน A เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑๔ มี.ค. ๒๕๖๕ โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ ๑๒๖ ๗๖๑๖
  • สามารถจองคิวออนไลน์ก่อนเข้ารับบริการได้ที่ https://qlegal.consular.go.th

 

๑๐. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๓ มี.ค. ๒๕๖๕) เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ หัวข้อ “บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศกับภารกิจการอพยพคนไทยในยูเครน” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • วันพรุ่งนี้ (วันศุกร์ที่ ๔ มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ หัวข้อ "Roles of MFA on evacuating Thai Nationals in Ukraine " สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 

คำถาม-คำตอบ

  • ประเทศไทยหรือศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพ BIMSTEC 2022 ในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕
  • ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ BIMSTEC ต่อจากศรีลังกาในเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ ภายหลังการประชุมผู้นำ BIMSTEC
  • เหตุผลการลงข้อมติข้อมตินการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ ๑๑ (Eleventh Emergency Special Session) เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน
  • ไทยตัดสินใจลงคะแนนสนับสนุนเพราะไทยให้ความสำคัญกับหลักการที่อยู่ในสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังของรัฐต่อรัฐ รวมถึงการข่มขู่ว่าจะใช้กำลัง
  • การให้การสนับสนุนร่างข้อมตินั้น สะท้อนความห่วงกังวลอย่างยิ่งของไทย ต่อพลเรือนที่ได้รับผลกระทบ และผลกระทบต่อยูเครน และประเทศอื่น ๆ ด้านมนุษยธรรมจากการเผชิญหน้าและความรุนแรงในพื้นที่
  • ไทยมีความกังวลกับผลกระทบในระยะยาวต่อระเบียบโลก ซึ่งคือการการเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ที่ต้องตั้งบนพื้นฐานของกฎระเบียบโลก จึงเป็นเหตุผลที่ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายส่งเสริมการเจรจาหารือรูปแบบต่าง ๆ เพื่อหาข้อยุติสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างสันติ เป็นท่าทีของประเทศไทยที่ได้แสดงในสหประชาชาติ

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลังhttps://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/3059754804288937

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand

 

กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_3_มีค._2565_as_delivered.pdf