งานปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ครั้งที่ ๑๐

งานปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ครั้งที่ ๑๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ส.ค. 2566

| 4,775 view

เมื่อวันพุธที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับสภากาชาดไทยจัดปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ครั้งที่ ๑๐ หัวข้อ “การป้องกันการพลัดถิ่นโดยไม่มีเหตุอันควร และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบ” (The Prevention of Arbitrary Displacement and the Protection of the Human Rights of Those Displaced by Armed Conflict) โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงรับฟังปาฐกถาฯ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

ปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อสาธารณชนทั่วไปและหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๒ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ และในปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของการจัดงาน ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานปาฐกถาฯ ทุกครั้ง

ปาฐกถาฯ ในครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่ ๑๐ โดยมีนางสาวเซซิเลีย ฮีเมเนซ-ดามารี (Ms. Cecilia Jimenez-Damary) อดีตผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของสหประชาชาติ ระหว่างปี ๒๕๕๙ - ๒๕๖๕ และนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ชาวฟิลิปปินส์ ผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในประเด็นการบังคับให้พลัดถิ่นและการโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นผู้แสดงปาฐกถา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานฯ กว่า ๓๐๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของไทยและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คณะทูต องค์การระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน นักวิชาการ คณาจารย์ นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น

สาระสำคัญของการแสดงปาฐกถาในครั้งนี้กล่าวถึง ปัญหาการบังคับให้พลัดถิ่นจากการขัดกันทางอาวุธ (armed conflict) และความรุนแรง ซึ่งในช่วงปลายปี ๒๕๖๕ มีผู้ที่ถูกบังคับให้ละทิ้งบ้านเรือนแต่ยังคงพำนักอยู่ในประเทศของตน หรือที่เรียกว่า “ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” จำนวนมากถึง ๖๒.๕ ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มผู้เปราะบาง อาทิ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งทุกคนต่างมีสิทธิที่จะแสวงหาความปลอดภัย ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ และทรงสิทธิภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอยู่เสมอ

ในช่วงท้าย นางสาวเซซิเลียฯ ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นที่ทวีความรุนแรง รวมถึงการส่งเสริมสิทธิของผู้พลัดถิ่นภายใต้การดำเนินการของรัฐและภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศยกระดับการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้พลัดถิ่นและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการพลัดถิ่นโดยไม่มีเหตุอันควรอย่างจริงจัง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ