รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,850 view
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วม ๓ การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖ โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายใหม่ โดยเฉพาะเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประชุมให้ความเห็นชอบเอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ เน้นย้ำการร่วมมือพหุภาคีในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การมีแผนฟื้นฟูที่ครอบคลุม และรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙
 
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Meeting of ASEAN Foreign Ministers) การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Council Meeting: APSC) ครั้งที่ 21 และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council Meeting: ACC) ครั้งที่ 26 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีนาย Pham Binh Minh รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนปี ๒๕๖๓ เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมด รวมถึงเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกและความไม่แน่นอนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งทุกประเทศจำเป็นต้องร่วมมือกันและยึดมั่นในระบอบพหุภาคี โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องว่า การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ มิได้เป็นเพียงวิกฤตด้านสาธารณสุข แต่ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น อาเซียนควรส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ  เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค อาทิ ทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย  
 
ที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๒๑ ได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการการดำเนินการตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ โดยเฉพาะความร่วมมือในกรอบกลาโหมผ่านศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ซึ่งได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความสำคัญของความร่วมมือในเสาการเมืองและความมั่นคงในการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน และความมั่นคงทางไซเบอร์ 
 
ที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๒๖ ได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๖ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินการตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๓ โดยที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบเอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และผลักดันให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว ตลอดจนสนับสนุนการจัดทำแผนฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับการเพิ่มพูนความร่วมมือในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องดังกล่าว ได้แจ้งผลการจัดการประชุม High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development ครั้งที่ ๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ และแผนงานประจำปี ๒๕๖๓ ของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญหลังโควิด-๑๙

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ