กรณีสื่อมวลชนบางสำนักตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

กรณีสื่อมวลชนบางสำนักตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,013 view

กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยกรณีสื่อมวลชนบางสำนักตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ดังนี้

๑. ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกมาตรการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติกลุ่มต่าง ๆ ที่มีเหตุผลความจำเป็น เดินทางเข้าประเทศไทยได้ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งการดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามแนวปฏิบัติตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนำ ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ที่ ๘/๒๕๖๓ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ระบุมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทุกประการ

๒. จากประกาศการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย  ที่ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ นั้น ได้มีการยกเว้นให้อากาศยานบางประเภททำการบินเข้าประเทศไทยได้ อาทิ เที่ยวบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา (repatriation flight) หรือเที่ยวบินขนส่งสินค้า (cargo flight) ไม่ได้เป็นการปิดน่านฟ้าหรือปิดประเทศโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด และได้มีการยกเลิกประกาศดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ทั้งนี้ ตั้งแต่ในช่วงที่มีการห้ามอากาศยาน กระทรวงฯ ได้อาศัยช่องทางอากาศยานที่ได้รับการยกเว้นในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศเดินทางกลับไทย รวมถึงคนต่างชาติที่ตกค้างในประเทศไทยกลับภูมิลำเนา และต่อมา ก็มีมาตรการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นเดินทางเข้าประเทศไทยในจำนวนจำกัดมาเป็นลำดับ

๓. กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานที่พิจารณาคำขอของชาวต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อออกหนังสือรับรองเพื่อเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry – COE) และตรวจลงตราให้แก่ชาวต่างชาติก่อนเดินทางเข้าไทย โดยชาวต่างชาติต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องในการขอรับการตรวจลงตราประเภทนั้น ๆ และหลักฐานการจอง Alternative State Quarantine (ASQ) มาแสดง รวมถึงก่อนเดินทางต้องแสดงเอกสารใบรับรองแพทย์ fit to fly/travel และ Covid-free ที่มีอายุไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทางด้วย โดยชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้าไทยต้องเข้ารับการกักกันตามระยะเวลาและในสถานที่ที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดหรือเห็นชอบ

๔. ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ผ่อนคลายอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศไทยมากขึ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้มีเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ อาทิ (๑) การบริหารจัดการเที่ยวบินในลักษณะกึ่งพาณิชย์ (semi-commercial flight) ที่จัดทำแนวทางร่วมกับ กพท. ให้สายการบินพาณิชย์สามารถให้บริการเที่ยวบินแบบกึ่งพาณิชย์ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้เดินทางเข้าไทย (๒) ทางการอนุญาตให้มีการตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทต่าง ๆ เช่น รหัส TR และ STV สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว รหัส Non-Immigration B สำหรับกลุ่มนักธุรกิจและการทำงาน รหัส O-A และ O-X สำหรับกลุ่มที่เดินทางเข้ามาเพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลาย เป็นต้น ซึ่งมีชาวต่างชาติให้ความสนใจขอรับการตรวจลงตราเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และ (๓) กระทรวงฯ ได้ผลักดันให้มีการเพิ่มจำนวน ASQ เพื่อรองรับผู้เดินทางเข้าประเทศที่แนวโน้มจะมีจำนวนมากขึ้น โดยในขณะนี้มี ASQ แล้ว ๑๑๓ แห่ง สามารถรองรับผู้เดินทางเข้าได้ถึงประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน

๕. กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติผ่านสื่อมวลชนมาโดยตลอด รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่ออำนวยความสะดวกคนไทยและชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยโดยสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศก็เป็นข้อมูลเปิดต่อสาธารณะ โดยครั้งล่าสุดอธิบดีกรมสารนิเทศ/โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชนและถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ซึ่งได้มีการออกข่าวสารนิเทศ ระบุจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้ ในการประชุม ศบค. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทุกครั้ง ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ผลการประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ให้สาธารณชนทั้งไทยและต่างชาติ ทราบในวงกว้างแล้วด้วย