สาธารณรัฐมาลาวี

สาธารณรัฐมาลาวี

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,192 view


สาธารณรัฐมาลาวี
Republic of Malawi

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาตอนใต้ ไม่มีทางออกสู่ทะเล  ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับแทนซาเนีย ทิศตะวันตกติดกับแซมเบีย ทิศใต้ ตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับโมซัมบิก

พื้นที่ 118,484 ตารางกิโลเมตร (รวมทะเลสาบบริเวณภายในประเทศอีก 24,208 ตารางกิโลเมตร)

เมืองหลวง กรุงลิลองเว (Lilongwe)

ประชากร 16.16 ล้านคน (ปี 2554) ประกอบด้วยชนเผ่า Chewa, Nyanja, Tumbuka, Yao, Lomwe, Sena, Tonga, Ngoni, Ngonde รวมทั้งชาวเอเชียและยุโรป

ภูมิอากาศ อยู่ในเขตร้อนชื้นและมีอุณหภูมิต่ำกว่าในพื้นที่ราบสูง

ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษและ Chichewa

ศาสนา คริสต์นิกายโปรเตสเเตนท์ร้อยละ 55 โรมันคาทอลิกร้อยละ 20 มุสลิมร้อยละ 20 นอกนั้นนับถือลัทธิวิญญาณตามความเชื่อดั้งเดิม

หน่วยเงินตรา  กวาช่ามาลาวี (Malawian Kwachas - MWK) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 8.0 MWK (ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 5.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 852 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.3 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง  ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายบิงกู วา มูทาริกา (Bingu wa Mutharika) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 เป็นสมัยที่สอง)

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

มาลาวีปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (จำนวน 46 ตำแหน่ง) ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 193 ที่นั่ง ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 5 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 19 พฤษภาคม 2552 ฝ่ายตุลาการประกอบด้วย ศาลอุทธรณ์สูงสุด ศาลสูง (หัวหน้าคณะผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี) และศาลแขวง

เดิมดินแดนมาลาวีชื่อ นยาซาแลนด์ (Nyasaland) ประกอบด้วยประชากรจากหลายชนเผ่า ชนเผ่า Bantu เป็นชนเผ่าแรกที่อพยพไปในบริเวณที่เป็นประเทศมาลาวีปัจจุบัน จากนั้น เป็นชนเผ่า Tumbuka เผ่า Phoka เผ่า Maravi เผ่า Yao และเผ่า Zulu ตามลำดับ ในศตวรรษที่ 19 ศูนย์กลางการค้าทาสหลายแห่งตั้งอยู่ในมาลาวี ที่สำคัญคือ เมือง Karonga และ Nkhotakota  ชาวยุโรปชาติแรกที่เข้าไปมีอิทธิพลในมาลาวี ได้แก่ อังกฤษ โดยนายเดวิด ลิฟวิ่งสโตน (David Livingstone) นักสำรวจชาวอังกฤษได้ค้นพบทะเลสาบในมาลาวีอันงดงามเมื่อเดือนกันยายน 2402 (ค.ศ.1859) และตั้งชื่อว่า “ทะเลสาบนยาซา (Lake Nyasa)” (ภายหลังจากมาลาวีประกาศเอกราชแล้ว รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อทะเลสาบนยาซา เป็นทะเลสาบมาลาวี ตามชื่อประเทศ ทะเลสาบแห่งนี้มีความงดงาม จนได้รับสมญานามว่า ทะเลสาบแห่งดวงดาว) การเสียชีวิตของนายลิฟวิ่งสโตนในปี 2416 (ค.ศ.1873) จุดประกายความสนใจในมาลาวีต่อมิชชันนารีและพ่อค้าชาวตะวันตก

ในปลายทศวรรษที่ 19 อังกฤษและโปรตุเกสแย่งกันมีอำนาจปกครองนยาซาแลนด์ นยาซาแลนด์ตกเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษอย่างเป็นทางการในปี 2450 (ค.ศ.1907) การปกครองของเจ้าอาณานิคมทำให้การค้าทาสและความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าในบริเวณนี้ยุติลง แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาอื่น เช่น การกดขี่ชนพื้นเมืองของชาวตะวันตก การแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการเก็บภาษีในอัตราที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม กระบวนการต่อต้านเจ้าอาณานิคมของมาลาวีเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยพรรค Nyasaland African Congress (NAC) นำโดยนายฮาสติงส์ คามูซู บันดา (Dr. Hastings Kamuzu Banda) เป็นแกนนำหลัก

นยาซาแลนด์ประกาศตัวเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรและเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศมาลาวีในปี 2508 (ค.ศ.1964) และมีนายคามูซู บันดา เป็นประธานาธิบดีคนแรกและประกาศตัวเป็น “ประธานาธิบดีตลอดชีวิต”

นายคามูซู บันดา ปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการเป็นเวลากว่า 30 ปี จนกระทั่งทนต่อแรงกดดันและปัญหาต่างๆ ไม่ได้ จึงจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับระบอบการปกครองในปี 2536 (ค.ศ.1993) ซึ่งชาวมาลาวีได้เลือกการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค มีการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2537 และผู้ชนะคือพรรค United Democratic Front (UDF) ส่งผลให้นายบากิลิ มูลูซิ (Bakili Muluzi) หัวหน้าพรรค UDF เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้ารับตำแหน่งแล้ว นายมูลูซิสั่งปิดคุกการเมืองที่ตั้งขึ้นในสมัยประธานาธิบดีคามูซู บันดา และอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ รวมทั้ง ดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจภายใต้การช่วยเหลือของ World Bank และ IMF

นายมูลูซิชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม 2542 และมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนสามารถดำรงตำแหน่งปรธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ได้ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ดังนั้น นายมูลูซิจึงไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ 3 ได้

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2547 พรรครัฐบาล UDF ส่งนายบิงกู วา มูทาริกา (Bingu wa Mutharika) ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งนายมูทาริกาได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว นายมูทาริกาประกาศย้ายออกจากพรรค UDF และก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ คือ พรรค Democratic Progressive Party (DPP) การบริหารประเทศของนายมูทาริกาได้รับการชื่นชมจากประชาชน นโยบายที่โดดเด่นของรัฐบาลของนายมูทาริกา ได้แก่ การปราบปรามคอรัปชั่น การต่อสู้กับโรคเอดส์ และการดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติ

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 พรรค DPP ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาและนายมูทาริกาได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2

เศรษฐกิจและสังคม

เศรษฐกิจส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการเกษตร มีสินค้าออกคือ ยาสูบ ชา น้ำตาล มีแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุ คือ บ๊อกไซต์ เยื่อหินทนไฟ กราไฟต์ และยูเรเนียม แต่ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่ จำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศ 

รัฐบาลมาลาวีต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ โดยมีแหล่งท่องเที่ยว คือ ทะเลสาบมาลาวี (ใหญ่อันดับ 3 ในแอฟริกา) แต่ยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากนัก เนื่องจากปัญหานักท่องเที่ยวถูกหลอกลวงจากไกด์ท้องถิ่น และความกลัวของนักท่องเที่ยวต่อสถานการณ์ความไม่สงบในแถบอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้ รัฐบาลมาลาวียังต้องการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย

มาลาวีเป็นอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาที่ประสบปัญหาการระบาดของเชื้อ HIV/AIDS โดยประชากรที่ติดเชื้อ HIV/AIDS ถึงร้อยละ 14

มาลาวีพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ มาลาวีอยู่ในกลุ่มประเทศ Highly Indebted Poor Countries (HIPC) ซึ่งได้รับการยกเว้นหนี้และเงินช่วยเหลือเพิ่มอย่างเป็นระบบจากสหประชาชาติและกลุ่มประเทศ G8 ปัจจุบัน รัฐบาลมาลาวีเร่งพัฒนาประเทศในด้านการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจแบบตลาด การพัฒนาการศึกษา และการควบคุมการระบาดของโรคเอดส์และการรักษาประชากรที่ติดเชื้อ HIV/AIDS

นโยบายต่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มาลาวีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านทุกประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ เมื่อมีปัญหาข้ามชาติระหว่างกัน มักจะมีการพูดคุยและได้รับการแก้ไขในเวทีระดับภูมิภาค มาลาวีวางตัวเป็นกลางต่อกรณีความขัดแย้งต่างๆ ในภูมิภาคนี้ กำลังทหารของมาลาวีเคยเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหภาพแอฟริกาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มาลาวีดำเนินนโยบายต่างประเทศคล้ายคลึงกับของแอฟริกาใต้ ที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน

ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก มาลาวีได้รับประโยชน์มากมายจากความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี รวมทั้งญี่ปุ่น ที่ให้ความช่วยเหลือแก่มาลาวีเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี การพึ่งพาความช่วยเหลือจากชาติอื่นมีส่วนทำให้มาลาวีมีความอ่อนไหวต่อแรงกดดันจากภายนอก การไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงกับ IMF ทำให้ความช่วยเหลือด้านการเงินต้องถูกหยุดชะงักบ่อยครั้ง ด้วยนโยบายการต่อต้านคอรัปชั่นและการมีวินัยด้านการเงินของประธานาธิบดีมูทาริกา ความสัมพันธ์กับองค์การระหว่างประเทศและประเทศผู้ให้อื่นๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายประเทศกลับมาสนับสนุนการพัฒนาในมาลาวี นอกจากนี้ มาลาวียังมีสิทธ์ได้รับการยกเว้นหนี้สินจำนวนมากด้วย

ในช่วงรัฐบาลของนายมูลูซิ ซึ่งเป็นชาวมุสลิม มาลาวีมีบทบาทในการเจรจาเพื่อสันติภาพในซูดานและช่วยเสริมสร้างสัมพันธ์กับโลกมุสลิม

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2553 นายนายบิงกู วา มูทาริกา (Bingu wa Mutharika) ประธานาธิบดีมาลาวี ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาของสหภาพแอฟริกา (Chairman of the Assembly of the African Union) วาระปี ค.ศ.2010-2011 ในระหว่างการชุมสุดยอดสหภาพแอฟริกาที่กรุงอาดิส อบาบา ประเทศเอธิโอเปีย

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

การทูต

ไทยกับมาลาวีได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530 (ค.ศ.1987) โดยฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมมาลาวี เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐมาลาวีคนปัจจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย ในขณะที่ฝ่ายมาลาวี มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตมาลาวี ณ กรุงปักกิ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทยปัจจุบันนาย ชาลส์ อีน็อก นามอนดเว (Chaeles Enoch Namonde) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐมาลาวีประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง (ก่อนหน้านี้ มาลาวีมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตมาลาวี ณ กรุงโตเกียวดูแลประเทศไทย โดยมีนายรูสเวลท์ ลาสตัน กอนเว (Roosevelt Laston Gondwe) เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐมาลาวีประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงโตเกียว)

เศรษฐกิจ

การค้า

ไทยและมาลาวีมีมูลค่าการค้าระหว่างกันน้อย ในปี 2554 มีมูลค่า 4.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 3.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า 2.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากมาลาวีได้แก่ ด้ายและเส้นใย ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และรถยนต์นั่ง

การลงทุน

ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน

การท่องเที่ยว

ในปี 2554 มีชาวมาลาวีเดินทางมาไทยจำนวน 533 คน และไม่มีคนไทยอยู่ในมาลาวี

ความช่วยเหลือทางวิชาการ

ไทยจัดให้มาลาวีเป็นประเทศที่อยู่ในโครงการ Annual International Training Course (AITC) ของไทย ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษาฝึกอบรม และดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญ และเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการให้ทุนฝึกอบรมด้านการขจัดความยากจน สาธารณสุข และการเกษตร

การแลกเปลี่ยนการเยือน

ฝ่ายไทย

ที่ผ่านมา ยังไม่มีคณะผู้แทนระดับสูงของฝ่ายไทยเยือนมาลาวี 

ฝ่ายมาลาวี  

- วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542  นายบากิลิ มูลูซิ (Bakili Muluzi) ประธานาธิบดีแวะผ่านไทย

- วันที่ 8 -11 กุมภาพันธ์ 2543 นายแซม อึมปาซุ (Sam Mpasu) ประธานรัฐสภามาลาวีเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหภาพรัฐสภา ที่กรุงเทพฯ

-  วันที่ 19 – 24 ตุลาคม 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของมาลาวีได้นำคณะเยือนไทยและมาเลเซีย โดยได้พบนายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายปิยบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม

************************
มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ