สาธารณรัฐเบนิน

สาธารณรัฐเบนิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2552

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,938 view


สาธารณรัฐเบนิน
Republic of Benin

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อทางการ : สาธารณรัฐเบนิน (Republic of Benin)
ที่ตั้ง: ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับไนเจอร์ และบูร์กินาฟาโซ ทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวกินี ทิศตะวันออกติดกับไนจีเรีย และทิศตะวันตกติดกับโตโก มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 125 กิโลเมตร
พื้นที่ : 112,620 ตารางกิโลเมตร (43,484 ตารางไมล์)
เมืองหลวง : กรุงปอร์โต-โนโว (Porto-Novo)มีประชากรประมาณ 250.3 ล้านคน (ปี 2551)
เมืองสำคัญ : เมือง Cotonou ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ และเป็นเมืองท่าสำคัญ มีประชากรประมาณ 734.1 ล้านคน
ภูมิอากาศ : ทางภาคใต้บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรมีอากาศร้อนชื้น และมีฤดูฝน 2 ช่วง คือ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม และระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ส่วนทางภาคเหนือจะมีฝนตกเฉพาะระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี
จำนวนประชากร : 8.7 ล้านคน (2551)
เชื้อชาติ : เป็นชาวอัฟริกันร้อยละ 99 ซึ่งประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ 42 เผ่า ที่สำคัญ คือ เผ่า Fon Yoruba Adja และ Bariba และมีชาวยุโรป ประมาณ 5,500 คน
ภาษา : ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ และมีภาษาพื้นเมืองอื่น ๆ คือ Bariba และ Fulani ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นสำคัญของภาคเหนือและ Fon และ Yoruba ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่สำคัญของภาคใต้
ศาสนา : คริสต์ 42.8% อิสลาม 24.4% อื่นๆ 32.8%
ระบบการปกครอง เบนินมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Unitary Republic) รัฐเดี่ยวตามรัฐธรรมนูญปี 2533 ซึ่งกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้นำรัฐบาล รวมทั้งเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยมีวาระสมัยละ 5 ปี
ประธานาธิบดี นาย Boni Yayi
ศาสนา นาย Jean-Marie Ehouzou

การเมืองการปกครอง

นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน

1. การเมืองการปกครอง
เบนินมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญปี 2533 ซึ่งกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้นำรัฐบาล โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี จำกัดไม่เกิน 2 สมัย และมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Boni Yayi เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2549 และได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2549 ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 22 คน ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการยุบสภา การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2554
รัฐสภาเป็นแบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิก 83 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2550 พรรค Force cauris pour un Bénin émergent (FCBE) ซึ่งสนับสนุนนาย Boni Yayi ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา 35 ที่นั่ง และได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองเล็กอื่นๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ การรวมกลุ่มทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ในรัฐสภาเบนินส่งผลอย่างมากต่อภาพลักษณ์ความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล นาย Boni Yayi ประธานาธิบดีจึงได้เสนอให้มีการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะปฏิรูปฝ่ายบริหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และศาลสูง

2. เศรษฐกิจและสังคม
เศรษฐกิจของเบนินจัดอยู่ในขั้นปฐมภูมิ รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและภาคการเกษตร โดยมีฝ้ายเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก (16.7% ของการส่งออกทั้งหมด) การนำเข้าสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (Re-export) คิดเป็น 41.2% ของการส่งออกทั้งหมด
แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกา เบนินยังคงถูกจัดให้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เศรษฐกิจของเบนินยังคงพึ่งพาไนจีเรียเป็นอย่างมาก ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกันตลอดชายแดนภาคตะวันออกของเบนิน (773 กิโลเมตร) อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าจากเบนินไปยังไนจีเรียมักได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันสินค้าข้ามพรมแดนของไนจีเรีย อาทิ การออกระเบียบที่เคร่งครัด และการปิดพรมแดน นอกจากนี้ เบนินยังต้องพึ่งพาพลังงานจากไนจีเรีย ในปัจจุบันมีโครงการ West African Gas Pipeline (WAGP) ในความร่วมมือระหว่างไนจีเรียและเบนินเพื่อสร้างท่อลำเลียงน้ำมันจากไนจีเรียไปยังเบนิน กานา และโตโก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2553 (แต่เดิมกำหนดไว้ให้แล้วเสร็จในปี 2550) และน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเบนิน และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้ดีขึ้นในอนาคต
ในปี 2548 กลุ่ม G8 ได้ออกมาตรการปลดหนี้ให้กับเบนินและประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางด้านหนี้สินต่างประเทศบรรเทาลงบ้าง แต่รัฐบาลเบนินก็ยังคงต้องแบกรับภาระจากการที่รัฐวิสาหกิจประสบปัญหาขาดทุนและการมีระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลเบนินจึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการปรับโครงสร้างระบบราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกตั้งแต่ปี 2534 รัฐบาลเบนินชุดปัจจุบันสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเน้นด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการปฏิรูปรัฐวิสากิจภาคโทรคมนาคม การประปา การไฟฟ้า และการเกษตร ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จนักในปัจจุบัน
รัฐบาลเบนินมุ่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะส่งผลให้โครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค อาทิ ท่าเรือและสนามบิน อาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อน ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ายังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเบนิน (มีศักยภาพการผลิตเพียง 120 ล้าน kWh ในขณะที่มีความต้องการบริโภค 595 ล้าน kWh)
นโยบายการเงินของเบนินถูกกำหนดโดยธนาคารกลางแห่งรัฐในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก (Bangue centrale des Etats de l’Afrique de l’ouest หรือ BCEAO) ซึ่งมุ่งควบคุมระดับเงินเฟ้อและรักษาการตรึงค่าเงิน CFA franc ไว้กับเงินสกุลยูโร (1 ยูโร เท่ากับ 655.957 CFAfr) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นมา
ในด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนค่อนข้างมาก สื่อมวลชนในเบนินนับว่าได้รับเสรีภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก นอกจากนี้ สมาพันธ์แรงงานยังมีอิสระในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเป็นพลังสำคัญในสังคม นอกจากนี้ กลุ่มองค์กรที่มิใช่รัฐ (NGO) ในเบนินมีจำนวนถึงประมาณ 5,000 องค์กรในปัจจุบัน และสามารถปฏิบัติภารกิจโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ

3. นโยบายต่างประเทศ
ปัจจุบัน รัฐบาลเบนินมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ อาทิ จีน ลิเบีย และบราซิล พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไนจีเรีย บูร์กินาฟาโซ และไนเจอร์ ซึ่งมีข้อพิพาทด้านดินแดนระหว่างกัน โดยเฉพาะกรณีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะต่างๆ ในแม่น้ำไนเจอร์ และเมครู (Mekrou) อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างเบนินกับไนเจอร์ได้คลี่คลายลงในปี 2548 เมื่อศาลโลกได้ตัดสินให้เกาะจำนวน 16 เกาะเป็นกรรมสิทธิ์ของไนเจอร์ และจำนวน 9 เกาะเป็นกรรมสิทธิ์ของเบนิน ในขณะที่ข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างเบนินกับบูร์กินาฟาโซตามแนวชายแดนความยาว 10 กิโลเมตร กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีของศาลโลก โดยในชั้นนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันไปก่อน
สำหรับความสัมพันธ์กับไนจีเรียนั้น มีแนวโน้มจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ไนจีเรียได้เปิดถนนชายแดน 3 สายเพื่อการขนส่งสินค้าจากระหว่างกัน ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ทั้งยังได้ยกเลิกการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ สิ่งทอ น้ำ เมล็ดฝ้าย น้ำมันพืช และต้นปาล์มจากเบนิน นอกจากนี้ โครงการ West African Gas Pipeline (WAGP) ที่จะสร้างท่อขนส่งก๊าซจากไนจีเรียมายังเบนิน ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในปี 2553 ก็น่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับบทบาทของเบนินในระดับภูมิภาคนั้น เบนินเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง Economic Community of West African States (ECOWAS) เมื่อปี 2518 เป็นสมาชิกองค์กรเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างภูมิภาคหลายองค์กรในเวทีระหว่างประเทศ เบนินได้รับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดำรงวาระในปี 2547-2549
นอกจากนี้ เบนินยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่พูดภาษาฝรั่งเศส (Francophone) โดยมีความตกลงเรื่องการใช้เงินสกุลเดียวกัน คือ สกุล CFA franc (Franc Zone) และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเงินในแอฟริกาตะวันตกตามสนธิสัญญาก่อตั้ง Union Economique et Monétaire Ouest-Africaine หรือ UFMOA (Economic and Monetary Union of West Africa) สำหรับมิตรประเทศนอกภูมิภาคแอฟริกานั้น ฝรั่งเศสนับเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ อีกทั้งยังเป็นคู่ค้าสำคัญของเบนินอีกด้วย

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจ/การค้า (ประมาณการปี 2551)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทย 273.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 610 ดอลลาร์สหรัฐ (ไทย 4,081.0 ดอลลาร์สหรัฐ)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4.8 (ไทย ร้อยละ 2.6)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 8.0 (ไทย ร้อยละ 5.5)
เงินทุนสำรอง 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทย 123.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สถานะเดือนสิงหาคม 2552)
อุตสาหกรรมที่สำคัญ สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร อุปกรณ์ก่อสร้าง ปูนซีเมนต์
ดุลการค้ากับไทย ปี 2551 ไทยและเบนินมีมูลค่าการค้า 447.46ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 423.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 23.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 399.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของเบนิน ฝ้ายและสิ่งทอ มะม่วงหิมพานต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากปาล์ม อาหารทะเล
สินค้านำเข้าที่สำคัญของเบนิน อาหาร สินค้าต้นทุน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ (สถิติปี 2551)
เบนินส่งออกไป จีน 27% ญี่ปุ่น 12.3% อินเดีย 8.7% ไนเจอร์ 7.0%
เบนินนำเข้าจาก จีน 40% สหรัฐอเมริกา 14.1% ไทย 7% ฝรั่งเศส 6.9%
หน่วยเงินตรา Communauté Financière Africaine Francs (CFAf)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ประมาณ 13.66 CFAf (มิถุนายน 2552)


วันชาติ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเบนิน

1. ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

1.1 ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยและเบนินได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2523 ปัจจุบันไทยได้ปรับเปลี่ยนเขตอาณาให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมเบนิน (จากเดิมที่เคยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต) ส่วนเบนินได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเบนินประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ปัจจุบัน นาย Sedozan Jean-Claude Apithy ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเบนินประจำประเทศไทย
ถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง ทั้งนี้ เบนินได้แต่งตั้งนายอัมรินทร์ คอมันตร์ ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์เบนินประจำประเทศไทยด้วย
1.2 ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ปัจจุบันในปี 2551 ไทยเป็นแหล่งสินค้านำเข้าที่สำคัญอันดับ 3 ของเบนิน มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 447.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย ไทยส่งออก 423.72ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 23.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเป็นเงิน 399.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเบนินได้แก่ ข้าว ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์พลาสติก หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผ้าปักและผ้าลูกไม้ และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเบนิน ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินแร่และโลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ เบนินเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญเป็นอันดับที่ 2 ของไทยในตลาดโลก มีมูลค่าการนำเข้าข้าวไทยสูงถึง 402.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
1.3 ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ในระหว่างการเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2534 นาย Theodore Holo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือเบนิน ได้แสดงความสนใจที่จะขยายความร่วมมือกับไทย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องโครงการวิจัยข้าว ธุรกิจการเกษตรขนาดเล็กและขนาดกลาง การผลิตวัสดุก่อสร้างและการผลิตเครื่องจักรกลขนาดเล็ก
ประธานาธิบดีเบนินได้เคยกล่าวกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต ซึ่งแต่เดิมเคยมีเขตอาณาครอบคลุมเบนินว่า เบนินสนใจที่จะขอความช่วยเหลือจากไทยโดยเฉพาะด้านการปลูกมันสำปะหลังและการแปรรูปมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ในโอกาสที่ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ นาย Rogalien Biaou รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบนิน ในระหว่างการประชุม South Summit ที่ประเทศกาตาร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2548 ฝ่ายเบนินได้แสดงความประทับใจต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทย และเห็นว่าสามารถเป็นแบบอย่างสำหรับแอฟริกาได้

2. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ไทยและเบนินกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Agreement on Economics, Scientific and Technical Cooperation) และความตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษ (Agreement on the Exchange of Convicted Offenders)

3. การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย
- ยังไม่เคยมีการเสด็จฯ เยือน หรือการเยือนของผู้แทนระดับสูงของไทย ไปยังเบนิน
ฝ่ายเบนิน
- วันที่ 24–25 ธันวาคม 2534 นาย Theodore Holo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือเบนิน เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 8–12 มีนาคม 2537 นาย Yacoubou A. Fassassi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และการท่องเที่ยวเบนิน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงพาณิชย์

******************************

กองแอฟริกา
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
1 กันยายน 2552



กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2037 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-country-28-document.doc