เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์

เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,832 view


เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์
Saint Vincent and the Grenadines

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะในทะเลแคริบเบียน ประกอบด้วยเกาะใหญ่ คือ เกาะเซนต์วินเซนต์ ส่วนเกรนาดีนส์ ประกอบด้วยเกาะเล็กจำนวน 32 เกาะ

พื้นที่ 389 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ ร้อนชื้น

ประชากร 109,022 คน

เมืองหลวง กรุงคิงส์ทาวน์ (Kingstown)

ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน ร้อยละ 47 ที่เหลือเป็นนิกายอื่น เช่น โรมันคาทอลิก โปรแตสแตนท์ และมีผู้นับถือศาสนาฮินดูด้วย

เชื้อชาติ สืบเชื้อสายมาจากชาวแอฟริกันร้อยละ 66 เชื้อสายผสม ร้อยละ 19 ที่เหลือเป็นชนพื้นเมืองอื่นๆ

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 88.1 (2547)

หน่วยเงิน ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean dollar) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.70 ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก

วันชาติ 27 ตุลาคม (วันประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1979)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ความตกลงอัลบา (Agreement for the Application of the Bolivarian Alternative for the Peoples of our America and the People’s Trade Agreements-ALBA)กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-Caricom) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแคริบเบียน (Caribbean Development Bank - CDB) องค์การรัฐแคริบเบียนตะวันออก (Organization of Eastern Caribbean States -OECS), ITU, OAS, G77, NAM, PetroCaribe, UN , WTO เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาแบบอังกฤษ

ประมุขของรัฐ สมเด็จพระราชชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ คนปัจจุบันได้แก่ Sir Frederick Nathaniel Ballantyne ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 2 กันยายน 2545

ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนปัจจุบันได้แก่ Ralph Everard Gonsalves ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สามเมื่อปี 2553 (สมัยแรกเมื่อปี 2544)

ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบรัฐสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 21 คน ประกอบด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 15 คน และวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง อีก 6 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดขึ้นภายในปี 2558

ฝ่ายตุลาการ ใช้ระบบ Common Law ตามแบบอังกฤษ และยอมรับอำนาจศาลฎีกาแคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean Supreme Court)


สถานการณ์สำคัญทางการเมือง

พรรค United Labour Party (ULP) ซึ่งนำโดยนาย Ralph Gonsalves เป็นพรรครัฐบาล ที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2544 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา การสร้างงาน และลดปัญหาความยากจนเป็นหลัก ในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น รัฐบาลมีมาตรการจัดตั้งกองทุนบรรเทาความยากจน ขยายกองทุนเพื่อความต้องการพื้นฐาน จัดทำแผนฟื้นฟูทางสังคม และพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้การนำของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงการสร้างท่าอากาศยาน และสร้างเครือข่ายถนนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณสำหรับใช้ดำเนินโครงการ

ปัจจุบัน เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ประสบปัญหาสังคมหลักที่รัฐบาลต้องแก้ไขคือ การควบคุมอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเมื่อปี 2550 สถิติการฆาตกรรมในเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์สูงที่สุดเป็นอันดับสองในหมู่สมาชิก CARICOM รองจากจาเมกา นอกจากนี้ เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ยังเป็นประเทศผู้ผลิตกัญชารายใหญ่ในภูมิภาคแคริบเบียนตะวันออกในขณะนี้ด้วย

เมื่อปี 2552 เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ได้จัดให้มีการลงประชามติ เพื่อเปลี่ยนแปลงประมุขของรัฐจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภา แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ การปกครองประเทศในปัจจุบันจึงยังคงเป็นระบอบเดิม


นโยบายต่างประเทศ

รัฐบาลของนาย Gonsalves ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการบูรณาการทางการเมืองภายในภูมิภาคแคริบเบียนภายใต้กรอบ CARICOM และ OECS รวมทั้ง การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคิวบาและเวเนซุเอลา ส่งผลให้ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากทั้งสองประเทศ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงอัลบา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่มีแนวความคิดทางการเมืองแบบฝ่ายซ้ายของประเทศภายในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนด้วย

แม้ว่ารัฐบาลของนาย Gonsalves จะแสดงท่าทีที่ใกล้ชิดกับทั้งคิวบา เวเนซุเอลา และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน เมื่อปี 2551 แต่สหรัฐอเมริกายืนยันว่าสถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองยังมีความเข้มแข็ง โดยสองประเทศให้ความสำคัญกับการกำจัดการปลูกกัญชาในเซนต์ วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งผลิตกัญชาสำคัญของแคริบเบียนตะวันออก รวมถึงพัฒนาความร่วมมือในการปราบปรามการขนถ่ายยาเสพติดประเภทอื่น ซึ่งใช้เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์เป็นทางผ่านในการลำเลียงยาเสพติดไปสู่สหรัฐอเมริกา


เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -2.8 (2552)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 582.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2552)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 5,514.7 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 12 (2547)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 6.9 (2550)

มูลค่าการส่งออก 47.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ กล้วย ต้นสาคู เผือก ดอกไม้

มูลค่าการนำเข้า 275.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2550)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย แร่ธาตุต่างๆ และน้ำมันเชื้อเพลิง

ประเทศคู่ค้า กรีซ โปแลนด์ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ตรินิแดดและโตเบโก อิตาลี ตุรกี โรมาเนีย


สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ

กล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะบนเกาะวินเซนต์ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในภาคการผลิตนี้กว่าร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ และเป็นที่มาของรายได้จากการส่งออกของประเทศถึงร้อยละ 50 อย่างไรก็ดี ภาคการเกษตรกำลังประสบปัญหาความผันผวนด้านราคาและการถูกจำกัดสิทธิพิเศษการนำเข้าจากสหภาพยุโรป รัฐบาลจึงพยายามที่จะลดการพึ่งพาการส่งออกกล้วย ด้วยการพัฒนาภาคการผลิตอื่นให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ โรงโม่แป้ง โรงสีข้าว เป็นต้น

ส่วนในเกรนาดีนส์นั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเน้นดึงดูดลูกค้าจากตลาดบน ด้วยการพัฒนาที่พักราคาแพง และเน้นกิจกรรมการล่องเรือยอร์ชเป็นหลัก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป ไทยและเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เป็นจุดติดต่อราชการกับเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ส่วนฝ่ายเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ มอบหมายให้คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นจุดติดต่อราชการกับฝ่ายไทย

2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 1.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 0.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 0.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เคหะสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ผักกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น เครื่องกีฬาและเครื่อเล่นเกมส์ กล้วยไม้

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ

3. ความร่วมมือทางด้านวิชาการ

ในระดับพหุภาคี ไทยดำเนินโครงการความร่วมมือกับเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์โดยการให้ทุนฝึกอบรมและทุนการศึกษาผ่านกรอบองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM)

4. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2553 มีชาวเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์เดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 19 คน

5. ความตกลงที่สำคัญ

ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามความตกลงซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว 1 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ระหว่างสำนักงาน ปปง. กับ The Financial Intelligence Unit ประเทศเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2548


ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กองลาตินอเมริกา

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5000 ต่อ 13010,13042,13044,13079 Fax. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ