สหภาพยุโรป (European Union -- EU)

สหภาพยุโรป (European Union -- EU)

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 573,385 view

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง                 ประเทศในทวีปยุโรป 27 ประเทศ (ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์

ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส

สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร ไซปรัส เช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย

ลิทัวเนีย  มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย สโลวะเกีย โรมาเนียและบัลแกเรีย)

พื้นที่                4.325 ล้าน ตารางกิโลเมตร (8.4 เท่าของไทย)

ประชากร         502.47 ล้านคน (ค.ศ. 2011)

ภาษา                ภาษาทางการ 23 ภาษา

ศาสนา              ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาอื่น ๆ เช่น ยิว อิสลาม พุทธ

ที่ตั้งสำนักงานใหญ่  กรุงบรัสเซลส์ (Brussels) ประเทศเบลเยียม

สกุลเงิน            ยูโร (เขตยูโร หรือ Eurozone คือ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร

                        มี 17 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ

ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สโลวีเนีย

ไซปรัส  มอลตา สโลวะเกีย และเอสโตเนีย) 

อัตราแลกเปลี่ยน     1 ยูโร =  39.96 บาท (ณ วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2011) 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP at current price, PPPs)  16.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

(ค.ศ. 2011)

อัตราการเจริญเติบโตของ GDP         ร้อยละ 1.5 (ค.ศ. 2011)

รายได้เฉลี่ยต่อหัว                                 ประมาณ 34,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขประมาณการ

ปี ค.ศ. 2011)

อัตราการว่างงาน                                  ร้อยละ 9.7 (ค.ศ. 2011)

อัตราเงินเฟ้อ                                        ร้อยละ 3.1 (ค.ศ. 2011)

คู่ค้าสำคัญ                    สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ตุรกี ญี่ปุ่น อินเดีย บราซิล

สินค้านำเข้าสำคัญ        น้ำมันปิโตรเลียม/น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุปกรณ์โทรคมนาคม

คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงาน

สินค้าส่งออกสำคัญ       ยานยนต์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์อุตสาหกรรมและไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์

ทางการแพทย์และเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์  เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

ทรัพยากรสำคัญ           แร่เหล็ก ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี 

ยูเรเนียม

วันก่อตั้ง (Europe Day)                        9 พฤษภาคม ค.ศ. 1950

ประธานคณะมนตรียุโรป นายเฮอแมน วาน รอมปาย (Herman Van Rompuy) (เบลเยียม)   

ประธานสภายุโรป        นายมาร์ติน ชูลส์ (Martin Schulz) พรรค Group of the Progressive

Alliance of Socialists and Democrats (S&D) (เยอรมนี)

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป  นายโฮเซ มานูเอล บาโรโซ

   (Jose Manuel Barroso) (โปรตุเกส)     

ผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง 

   บารอนเนสแคทเธอรีน แอชตัน 

    (Baroness Catherine  Ashton) (สหราชอาณาจักร)

ประธานสหภาพยุโรปหมุนเวียน (ม.ค. – มิ.ย. 2555)

นางเฮลเลอร์ ทอร์นนิ่ง ชมิดท์ (Helle Thorning Schmidt)  นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก

 

สถานะและความสำคัญของสหภาพยุโรป

• เป็นการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในโลก (supranational cooperation) และมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระดับโลก 
• ในด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรปมี GDP สูง ที่สุดในโลก เป็นตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงิน และผู้ลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญ รวมทั้งมีบรรษัทข้ามชาติระดับโลกเป็นจำนวนมากที่สุด 

• บูรณาการ ของสหภาพยุโรปมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นภายหลังสนธิสัญญาลิสบอนมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2009 ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปมีสถานะทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ สามารถจัดทำความตกลงกับต่างประเทศ เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ และเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศได้

 

ความเป็นมา

• ค.ศ. 1952 :    จัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel

Community – ECSC) มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี

เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก  

• ค.ศ. 1957 :    ประเทศสมาชิก ECSC ลงนามสนธิสัญญากรุงโรม (Treaty of Rome) ซึ่งถือเป็น

จุดกำเนิดของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic

Community – EEC) ในปี ค.ศ. 1958 ซึ่งได้พัฒนามาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน

• ค.ศ. 1958 :    จัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (European Atomic Energy Community

- EURATOM)

• ค.ศ. 1967 :    ทั้งสามองค์กร คือ ECSC, EURATOM และ EEC รวมตัวกันภายใต้

กรอบประชาคมยุโรป (European Communities)

• ค.ศ. 1968 :    EEC ได้พัฒนาเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) และก้าวสู่การเป็น

ตลาดร่วม (Common Market)

• ค.ศ. 1973 :    สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และไอร์แลนด์เข้าเป็นสมาชิก
• ค.ศ. 1981 :    กรีซเข้าเป็นสมาชิก
• ค.ศ. 1986 :    สเปนและโปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิก
• ค.ศ. 1987 :    Single European Act พัฒนา EEC ให้เป็นตลาดร่วมหรือตลาดเดียว เมื่อวันที่

1 มกราคม 1993 และเรียกชื่อใหม่ว่า ประชาคมยุโรป (European Community –

EC)

• ค.ศ. 1992 :    ลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรป (Treaty of the European Union) หรือ

อีกชื่อหนึ่งว่า สนธิสัญญามาสทริกท์ (Maastricht Treaty) เรียกชื่อใหม่ว่า

สหภาพยุโรป (European Union – EU) มี 3 เสาหลัก คือ (1) ประชาคมยุโรป

(2) นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง และ (3) ความร่วมมือด้าน

กิจการยุติธรรมและกิจการภายใน

• ค.ศ. 1995 :    ออสเตรีย ฟินแลนด์ และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก
• ค.ศ. 1997 :    ลงนามในสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) แก้ไขเพิ่มเติม

สนธิสัญญามาสทริกท์เรื่องนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง

ความเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรป และการปฏิรูปกลไกด้านสถาบันของ

สหภาพยุโรป

• ค.ศ. 2001 :    ลงนามในสนธิสัญญานีซ (Treaty of Nice) เน้นการปฏิรูปด้านสถาบันและกลไก

ต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปเพื่อรองรับการขยายสมาชิกภาพ

• ค.ศ. 2004 :    รับสมาชิกเพิ่มอีก 10 ประเทศ ได้แก่ ไซปรัส เช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย

ลิทัวเนีย มอลตา  โปแลนด์ สโลวะเกีย และ สโลวีเนีย

• ค.ศ. 2007 :    รับสมาชิกเพิ่มอีก 2 ประเทศ ได้แก่ โรมาเนียและบัลแกเรีย (รวมประเทศสมาชิก

27 ประเทศ)                                               

• 1 ธันวาคม ค.ศ. 2009 : สนธิสัญญาลิสบอนมีผลใช้บังคับ

 

 

สถาบันหลักของสหภาพยุโรป

 

คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) 
• เป็นองค์กรตัดสินใจหลักของ EU โดยผู้แทนของประเทศสมาชิก EU ทั้งหมด มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎระเบียบของ EU และอนุมัติงบประมาณ (ร่วมกับสภายุโรป) และเป็นเวทีสำคัญในการประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (CFSP) ตลอดจนกำกับดูแลการทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรป และประสานงานเรื่องอื่นๆ ระหว่างประเทศสมาชิก EU ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก EU จะผลัดกันทำหน้าที่เป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป วาระ 6 เดือน โดยจะทำหน้าที่ประธานในการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก EU ในสาขาต่างๆ ยกเว้นในด้านการต่างประเทศซึ่งสนธิสัญญาลิสบอนกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง                                               

หน้าที่หลักของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มีดังนี้
1. ใช้อำนาจร่วมกับสภายุโรปในการบัญญัติกฎหมายของ EU และอนุมัติงบประมาณของ EU
2. ประสานแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
3. บรรลุความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ระหว่าง EU กับประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
4. ประสานความร่วมมือระหว่างตำรวจและศาลยุติธรรมในการปราบปรามอาชญากรรม

 

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) 
• คณะ ผู้บริหารของคณะกรรมาธิการยุโรปประกอบด้วยประธาน 1 คน รองประธานและกรรมาธิการรวมกันอีก 26 คน (ตามจำนวนประเทศสมาชิก 27 ประเทศ) และข้าราชการประจำประมาณ 25,000 คน คณะผู้บริหารฯ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และได้รับการแต่งตั้งโดย

คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป โดยความเห็นชอบของสภายุโรป (ซึ่งมีอำนาจลงมติไม่รับรอง

คณะผู้บริหารคณะกรรมาธิการยุโรปทั้งคณะ แต่ไม่มีอำนาจที่จะเลือกไม่รับรองกรรมาธิการเป็นรายบุคคล)

• คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันมีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 2010 - 2014
หน้าที่หลักของคณะกรรมาธิการยุโรป มีดังนี้
1. ริเริ่มร่างกฎหมายและเสนอให้คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และสภายุโรป (ในกรณีส่วนใหญ่) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่ประเทศสมาชิก EU และ/หรือสถาบันของ EU ที่เกี่ยวข้องจะนำไปปฏิบัติ 
2.ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารของ EU มีหน้าที่ในการนำกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ และนโยบายระดับ EU ไปปฏิบัติ
3.พิทักษ์รักษาสนธิสัญญาต่างๆ และทำงานร่วมกับศาลยุติธรรมยุโรป ในการดูแลให้กฎหมาย EU ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม
4.เป็นตัวแทนของ EU ใน เวทีการเมืองระหว่างประเทศ และทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาในเรื่องการค้าและความร่วมมือระหว่างกัน


สภายุโรป (European Parliament)                  
• สมาชิกสภายุโรปอยู่ในวาระครั้งละ 5 ปี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในประเทศสมาชิก EU เดิมมีบทบาทด้านนิติบัญญัติจำกัดมากโดยไม่มีอำนาจเสนอร่างกฎระเบียบของ EU อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาลิสบอนได้เพิ่มอำนาจให้กับสภายุโรปในการพิจารณารับรองร่างกฎระเบียบของ EU เพิ่มขึ้นกว่า 50 สาขา ภายใต้ ‘co-decision procedure’ ทำให้สภายุโรปมีบทบาทเท่าเทียมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในการพิจารณารับรองกฎระเบียบของ EU ซึ่งครอบคลุมถึง

ความตกลงระหว่าง EU กับประเทศที่สาม อาทิ ความตกลงเขตการค้าเสรี กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement – PCA)                      
• การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป (Members of the European Parliament - MEPs) ครั้ง แรกจัดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1979 การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน ค.ศ. 2009 โดยมีผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 736 คน จากกลุ่มการเมืองต่างๆ ในประเทศสมาชิก EU ดังนี้     
1) กลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยม Group of the European People's Party - Christian Democrats (EPP) ได้ที่นั่งมากที่สุด จำนวน 264 ที่นั่ง     

2) กลุ่มพรรคสังคมนิยม Party of European Socialists (PES) ได้ 161 ที่นั่ง      
3) กลุ่มพรรค Alliance of Liberals and Democrats for Europe (ALDE) ได้ 80 ที่นั่ง    
4) กลุ่มพรรค Green/ European Free Alliance ได้ 53 ที่นั่ง      

5) กลุ่มพรรค Union for Europe of the Nations (UEN) ได้ 35 ที่นั่ง (พรรคการเมืองฝ่ายขวา)     

6) กลุ่ม European United Left - Nordic Green Left  (GUE/NGL) ได้ 32 ที่นั่ง   

7) กลุ่มอิสระ Independence/Democracy Group (IND/DEM) ได้ 18 ที่นั่ง (พรรคการเมืองฝ่ายขวา)  

8) พรรคอื่นๆ ได้ 93 ที่นั่ง 
• สภา ยุโรปมีคณะกรรมาธิการสภาดูแลเฉพาะเรื่องต่าง ๆ เช่น กิจการระหว่างประเทศ งบประมาณ สิ่งแวดล้อม และมีกลุ่มสมาชิกสภายุโรปที่ดูแลความสัมพันธ์กับประเทศที่สาม อาทิ กลุ่มดูแลความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน 
หน้าที่หลักของสภายุโรป มีดังนี้
1. พิจารณาและรับรองกฎระเบียบของสหภาพยุโรปในสาขาที่ได้รับมอบหมายอำนาจตามที่ ระบุในสนธิสัญญาลิสบอน โดยใช้อำนาจร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
2. อนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรป
3. ตรวจสอบการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการไต่สวน
4. ให้ความเห็นชอบข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น การรับสมาชิกใหม่ และความตกลงด้านการค้าหรือการมีความสัมพันธ์ในเชิงการรวมกลุ่มระหว่างสหภาพ ยุโรปกับประเทศที่สาม 

 

คณะมนตรียุโรป (European Council)
• นอกจากทั้ง 3 สถาบันข้างต้นแล้ว ยังมีคณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งเป็นเวที

การประชุมของประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU โดยมีการประชุมคณะมนตรียุโรปอย่างเป็นทางการปีละ 4 ครั้ง (ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเข้าร่วมการประชุมด้วยทุกครั้ง) โดยผู้นำ EU จะร่วมกันตัดสินใจในประเด็นด้านนโยบายที่สำคัญต่อ EU และแม้ว่าผลการประชุมของคณะมนตรียุโรปจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางและนโยบายทั้งกิจการภายใน EU และนโยบายต่างประเทศของ EU และเป็นกรอบปฏิบัติให้กับสถาบันอื่นๆ ของ EU 
• สนธิสัญญาลิสบอนได้ให้สถานะทางกฎหมายแก่คณะมนตรียุโรป และมีการสร้างตำแหน่งใหม่ คือ ประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปีครึ่ง และไม่เกิน 2 สมัย ปัจจุบัน นาย Herman Van Rompuy อดีตนายกรัฐมนตรีเบลเยียม ได้รับการเลือกตั้งโดยฉันทามติจากรัฐสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดย

เข้า รับหน้าที่พร้อมกับการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาลิสบอน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2009 (เริ่มปฏิบัติหน้าที่จริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2010)

หน้าที่หลักของประธานคณะมนตรียุโรป มีดังนี้

1. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะมนตรียุโรป (ที่ประชุมประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU)

2. ทำหน้าที่ผู้แทน EU ในระดับประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลในด้านนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง อาทิ ในการประชุมผู้นำระหว่าง EU กับประเทศอื่นๆ

3. ทำหน้าประธานในการประชุมผู้นำประเทศสมาชิกในเขตยูโร (Euro Summit)

 

สนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon)

• ประเทศสมาชิก EU ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อตอบสนองกระบวนการบูรณาการภายใน EU ที่ก้าวหน้าขึ้น และความประสงค์ที่จะขยายบทบาทของ EU ในประชาคมโลก โดยในชั้นแรกเห็นควรให้จัดทำ “ธรรมนูญยุโรป” (European Constitution) แต่แนวคิดดังกล่าวต้องล้มเลิกไปเนื่องจากประชาชนฝรั่งเศส และ ประชาชนเนเธอร์แลนด์ได้ปฏิเสธร่างธรรมนูญยุโรปในการจัดทำประชามติในทั้ง 2 ประเทศ เมื่อ ค.ศ. 2004 และ ค.ศ. 2005 ตามลำดับ ต่อมา เมื่อวันที่ 18 – 19 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันให้เปลี่ยนจากการจัดทำธรรมนูญยุโรปเป็นการจัดทำสนธิสัญญา (Treaty) แทน โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2007 ประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาลิสบอน ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ทั้งนี้ สนธิสัญญาลิสบอนมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2009  


สาระสำคัญของสนธิสัญญาลิสบอน ได้แก่ 

 

1) เป็นสนธิสัญญาระหว่างรัฐสมาชิก EU ที่ให้ความเห็นชอบในการสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่ความร่วมมือเหนือชาติ (supranational cooperation) โดย Article 3 ของสนธิสัญญาลิสบอนระบุว่า EU มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (exclusive competences) ในเรื่อง (1) สหภาพศุลกากร (customs union)  (2) การออกกฎระเบียบด้านการแข่งขัน (competition rules) ที่จำเป็นต่อ    การทำหน้าที่ของตลาดภายใน (3) นโยบายด้านการเงิน (monetary policy) สำหรับรัฐสมาชิก EU ที่ใช้สกุลเงินยูโร (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพทางทะเล (marine biological resources) ภายใต้นโยบายร่วมด้านประมง และ (5) นโยบายการค้าร่วม (common commercial policy) 


2) สนธิสัญญาฯ กำหนดให้สร้างตำแหน่งผู้บริหารขึ้น 2 ตำแหน่งใหม่ คือ 

 

2.1 ประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) (เทียบเท่าผู้นำรัฐบาล/ประมุขแห่งรัฐ)

 

2.2 ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (EU High Representative for Foreign Affairs and Security Policy (เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ EU) มี หน้าที่ (1) ดูแลเรื่องนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่มาจากการตัดสินใจร่วมกันของ ประเทศสมาชิก และเป็นประธานในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก EU (แทนระบบประเทศสมาชิกผลัดกันเป็นประธาน วาระละ 6 เดือน)

(2) ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปอีกตำแหน่ง โดยกำกับดูแลงานภายในคณะกรรมาธิการยุโรปที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ ยกเว้นการค้าระหว่างประเทศ

การขยายสมาชิกภาพของ EU และ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งทำให้บุคคลที่รับหน้าที่นี้มีอำนาจหน้าที่ทั้งในคณะกรรมาธิการยุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ปัจจุบัน Baroness Catherine Ashton (สัญชาติบริติช) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศฯ คนแรก 


อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก EU ยัง คงมีอำนาจในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านการทหาร/ความมั่นคงเช่น เดิม โดยการสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคลทั้งพลเรือนและทหารแก่ EU เพื่อการดำเนินการด้านการป้องกันและความปลอดภัยร่วม (Common  Security and Defence operations) ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละประเทศสมาชิก

 

3) สนธิสัญญาลิสบอนกำหนดให้มีการจัดตั้ง European External Action Service (EEAS) เพื่อทำหน้าที่เป็น “กระทรวงการต่างประเทศ” ของ EU โดยมีการคัดสรรบุคลากรจากกระทรวง

การต่างประเทศของประเทศสมาชิกและสถาบันอื่นๆ ของ EU มาปฏิบัติราชการเพื่อสนับสนุน

การทำงานของผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศฯ และ EEAS เริ่มปฏิบัติการเมื่อวันที่

1 มกราคม ค.ศ. 2011 โดยขึ้นตรงต่อ Baroness Ashton และดำเนินงานเป็นอิสระจากคณะกรรมาธิการยุโรปและคณะมนตรียุโรป โดยมีสำนักงานใหญ่ ณ กรุงบรัสเซลส์

 

การจัดตั้ง EEAS ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกของสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นสำนักงานคณะผู้แทน EU โดยอยู่ภายใต้สังกัด EEAS เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทน EU ทำหน้าที่เป็นผู้แทน EU ในการดำเนินนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงกับประเทศที่สาม

 

อำนาจหน้าที่ของ EEAS ได้แก่ (1) ทำหน้าที่เป็นกระทรวงการต่างประเทศของ EU ในด้านนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (2) รับผิดชอบในเรื่องการยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพ ส่วนคณะกรรมาธิการยุโรปรับผิดชอบงานด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา พลังงาน การขยายสมาชิกภาพของ EU และการค้าระหว่างประเทศ


EEAS ภายใต้การนำของ Baroness Ashton ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านของ EU และความสัมพันธ์กับประเทศที่ EU มองว่ามีศักยภาพในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อาทิ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐเกาหลี โดย EU กำหนดให้ประเทศเหล่านี้เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (strategic partners) นอกจากนั้น Baroness Ashton มีความสนใจจะขยายความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในกรอบ ASEAN และ ASEAN Regional Forum (ARF)


4) สนธิสัญญาลิสบอนเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่ให้พื้นฐานทางกฎหมายแก่ EU ใน การดำเนินการด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยมีการระบุอย่างชัดเจนว่า การลดและขจัดความยากจนในประเทศที่สามเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของนโยบายความ ร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ EU อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายนี้ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละประเทศสมาชิก EU เนื่องจากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง


5) สนธิสัญญาลิสบอนให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดว่า เป้าหมายหนึ่งของ EU ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการปกป้องและพัฒนาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม โดยการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ประการหนึ่งภายใต้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ EU นอกจากนี้ สนธิสัญญาลิสบอนยังระบุว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายหนึ่งของ EU ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศที่สาม   


6) สนธิสัญญาลิสบอนได้กำหนดให้สภายุโรปมีบทบาทมากขึ้นเนื่องจากได้รับอำนาจมากขึ้นในการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายของ EU เกือบทั้งหมด (ในกระบวนการ co-decision ร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป) เช่น เกษตรกรรม พลังงาน ความมั่นคง การตรวจคนเข้าเมือง ยุติธรรม มหาดไทย และสาธารณสุข สนธิสัญญาลิสบอนยังกำหนดให้สภายุโรปต้องหารือกับรัฐสภาของประเทศสมาชิก เกี่ยวกับร่างกฎหมาย ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งจะทำให้การทำงานของ EU มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย มากขึ้น และในขณะเดียวกัน จะมีความคาดหวังจากสภายุโรปสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภายุโรปจากเดิมจำนวน 736 คน เป็นจำนวนไม่เกิน 750 คน โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะมีสมาชิกสภายุโรปได้สูงสุดไม่เกิน 96 คน

 

ความสัมพันธ์ไทย – สหภาพยุโรป         

ภาพรวม
• ไทยให้ความสำคัญกับ EU เนื่องจากเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 500 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปีละประมาณ 16,000 พันล้านยูโร และเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจซื้อสูงที่สุดในโลก EU จึง เป็นยักษ์ใหญ่ในเวทีการค้าโลกที่มีอำนาจต่อรองสูงและมีบทบาทในการกำหนดทิศ ทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นผู้นำด้านกฎระเบียบและนโยบายด้านการค้าและที่มิใช่การค้าที่สำคัญของ โลก (Global Standards Setter) 
• สหภาพ ยุโรปให้ความสำคัญต่อไทยว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมิติการเมืองและความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งในกรอบอื่นๆ เช่น อาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU) และในกรอบ ARF (ASEAN Regional Forum)                

 • ยุทธศาสตร์ไทยต่อ EU คือ การเน้นว่าไทยยึดมั่นในคุณค่าประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรี เช่นเดียวกับ EU เพื่อให้ EU มีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพและความต่อเนื่องของระบอบ

การ ปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยและเพื่อให้เห็น ไทยเป็นหุ้นส่วนหลักในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยในการขยายการค้า การลงทุนการท่องเที่ยว และการรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก EU และเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

 

ด้านเศรษฐกิจ                                                 

การค้า

• ในช่วงปี ค.ศ. 2009 - 2011 EU เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย และในปี ค.ศ. 2011 EU เป็น คู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของไทย (รองจากอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.19 ของการค้าต่างประเทศของไทย โดยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับที่ 4 (รองจากญี่ปุ่น อาเซียน และจีน) และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าอันดับที่ 3 (รองจากอาเซียน และจีน) มูลค่าการค้าสองฝ่ายในปี ค.ศ. 2011 คิดเป็นมูลค่า USD 42,008.85 ล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.66 จากปี ค.ศ. 2010 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า EU มูลค่า USD 6,304.61 ล้าน

 

• ประเทศสมาชิก EU ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ เยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี

 

• การส่งออกสินค้าของไทยไป EU ใน ปี ค.ศ. 2011 มีทั้งสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวและหดตัว (สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก) โดยมีการขยายตัวมากที่สุดในสินค้าประเภทยางพารา (57.32%) ส่วนสินค้าที่อัตราการส่งออกหดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-12.25%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-7.54%) และเครื่องนุ่งห่ม (-1.48%)

• การนำเข้าสินค้าจาก EU ใน ปี ค.ศ. 2011 มีอัตราการขยายตัวเกือบทุกรายการ (สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก) โดยมีการขยายตัวมากที่สุดในสินค้าประเภทเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ (1,005.71) ส่วนสินค้าที่อัตราการนำเข้าหดตัว คือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-2.18%)

 

ประเด็นด้านเศรษฐกิจ EU มีกฎระเบียบมาตรการทางการค้าและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด มีมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัย (SPS) ในระดับสูง ประเด็นด้านเศรษฐกิจระหว่างกันที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ มาตรการตรวจเข้มสินค้าผักสดส่งออกจากไทยไป EU มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของ EU ที่ใช้กับสินค้าไทยบางชนิด กฎระเบียบของ EU ว่าด้วยการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – IUU) กฎระเบียบสร้างระบบการค้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU Emission Trading Scheme – EU ETS) สำหรับการขนส่งทางอากาศ การจัดทำความตกลง Voluntary Partnership Agreement ภายใต้กฎระเบียบ FLEGT เพื่อป้องกันปัญหาการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย

 

• เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับปัญหา/อุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยกับ EU กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ได้จัดทำเวบไซต์  www.thaieurope.net เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ นโยบายของ EU ในด้านต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของไทย บทบาทการแจ้งเตือนล่วงหน้า (early warning) มีส่วนช่วยให้ภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องปรับตัวเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ EU ซึ่งมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 

การลงทุน

• ในปี ค.ศ. 2011 ประเทศสมาชิก EU ได้ รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยมากเป็น อันดับที่ 4 (รองจากอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน) จำนวน 123 โครงการ มูลค่าการลงทุน 16,736 ล้านบาท โดยประเทศสมาชิก EU ที่ ลงทุนในไทยมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (4,252.4 ล้านบาท) สวีเดน (3,269.4 ล้านบาท) ฝรั่งเศส (3,045.1 ล้านบาท) โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของยุโรป (มูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) อาทิ กิจการผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์เคลือบพลาสติก ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

ผลิตเลนส์

การลงทุนและการดำเนินธุรกิจของไทยในประเทศสมาชิก EU โดย ใช้แบรนด์ไทย ประกอบด้วยธุรกิจอาหาร/ เครื่องดื่ม ร้านอาหารไทย ผลิตกระดาษ ธุรกิจแฟชั่น/อัญมณี ธุรกิจโรงแรม การผลิตเหล็ก การค้าปลีก อุตสาหกรรมการเกษตร

 

การท่องเที่ยว

• ในปี ค.ศ. 2011 มีนักท่องเที่ยวจากยุโรปทั้งหมด (รวมประเทศนอกกลุ่ม EU) เดินทางมาไทยจำนวน 4.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.91 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2011 จำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน โดยประเทศสมาชิก EU ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยมากที่สุด 3 ประเทศแรก คือ อังกฤษ (8.4 แสนคน) เยอรมนี (6 แสนคน) และฝรั่งเศส (5 แสนคน)

 

ด้านการเมือง

• โดยรวม ไทยกับ EU มี ความสัมพันธ์ที่ดีและราบรื่น ในมุมมองของ EU ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่ง EU ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ไทยจึงเป็นหุ้นส่วนสำคัญของ EU ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้        

                                       

• ไทยกับ EU มี กลไกดำเนินการความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี ได้แก่ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งได้มีการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 โดยมีการหารือในประเด็นต่างๆ ทั้งในความสัมพันธ์ทวิภาคี ประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ

กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับประชาคมยุโรปและ

รัฐสมาชิก นอกจากนี้ EU ได้ทาบทามไทยให้เจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป

 

• การเยือนในระดับสูงระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ครั้งล่าสุด คือ การเยือนไทยของ Baroness Catherine Ashton ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 โดยได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑

พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๒ ที่ทำเนียบรัฐบาล

 

ความร่วมมือทางวิชาการไทย สหภาพยุโรป

• ความร่วมมือทางวิชาการในระดับทวิภาคีระหว่างไทย และ EU ดำเนินผ่านโครงการ Thailand-EC Cooperation Facility (TEC) ซึ่งได้รับการจัดสรรงงบประมาณจากงบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ EU สำหรับปี ค.ศ. 2007 -2013  ในหมวด Development Cooperation Instrument (DCI)

ซึ่ง เน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนา ในด้านต่างๆ อาทิ การขจัดความยากจน การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โครงการ TEC มีงบประมาณจำนวน 17 ล้านยูโร สำหรับการดำเนินงานระหว่างปี ค.ศ. 2007-2013                   มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับ EU ใน 4 ด้าน คือ 1) การปรับตัวให้ทันพัฒนาการของกฎระเบียบการค้าของ EU 2) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษา 3) สิ่งแวดล้อม 4) ธรรมาภิบาล การโยกย้ายถิ่นฐาน และสิทธิมนุษยชน

• รูปแบบความร่วมมือในโครงการ TEC 2 แบบ คือ 1) Call for Proposal โดย EU ออกประกาศหัวข้อวิจัยให้หน่วยงานราชการและองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรของไทย เช่น สถาบันการศึกษา ยื่นข้อเสนอโครงการ และ 2) Policy Dialogue โดย EU สนับ สนุนข้อเสนอโครงการตามความประสงค์ของหน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องกับ 4 สาขาความร่วมมือข้างต้น อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพานิชย์ กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น

ทิศทางความร่วมมือในอนาคต ภายใต้แผนงบประมาณด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ EU ฉบับใหม่สำหรับปี ค.ศ. 2014 – 2020 ไทยจะพ้นสถานะจากประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านหมวด Development Cooperation Instrument (DCI) (มีงบประมาณทั้งหมด 23,295 ล้านยูโร)

สู่หมวด Partnership Instrument (PI) (มีงบประมาณทั้งหมด 1,131 ล้านยูโร) เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่ม Upper Middle Income Countries อีก 16 ประเทศ (อาทิ จีน บราซิล มาเลเซีย) และกลุ่ม Lower Middle Income ที่มี GDP มากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP ของโลก (อาทิ อินโดนีเซีย อินเดีย)

หมวด PI จะเน้นความร่วมมือในลักษณะความเป็นหุ้นส่วน (partnership) กับ EU ในประเด็นที่ EU ให้ความสำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

ต่างจากหมวด DCI ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาและขจัดความยากจนในประเทศผู้รับความช่วยเหลือ บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ (donor-recipient relationship) ทั้งนี้

ยังไม่เแน่ชัดว่า ภายใต้รูปแบบความร่วมมือรูปแบบใหม่ ไทยจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ

ความร่วมมือจำนวนเท่าใด และรูปแบบความร่วมมือจะเป็นไปในลักษณะใด

ความร่วมมือในนอกเหนือจากกรอบทวิภาคี นอกจากความร่วมมือระดับทวิภาคี ไทยมีช่องทางความร่วมมือกับ EU ในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค (regional programme)และระดับระหว่างประเทศ (thematic programme)

ความตกลงระหว่างไทย – สหภาพยุโรปที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา

 

• การเจรจาจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย – ประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between Thailand and the European Community and its Member States – PCA) เป็น ความตกลงที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติของความสัมพันธ์ อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การค้าการลงทุน การศึกษาและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงาน การต่อต้านยาเสพติด และการต่อต้านการฟอกเงิน เป็นต้น โดยได้มีการเจรจารอบล่าสุด (รอบที่ 8) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2009 ณ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการลงนามความตกลงดังกล่าวเนื่องจากเหลือประเด็นติดค้างบาง ประเด็น โดยหลังจากการเจรจารอบที่ 8 ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บรรลุข้อ ตกลงและนำไปสู่การลงนามความตกลงได้ในอนาคต    
 

• การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (Thailand – EU Free Trade Area Agreement – FTA) เมื่อปี ค.ศ. 2007 EU ได้ เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับอาเซียน และเมื่อปี ค.ศ. 2009 ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศหยุดพักการเจรจาเนื่องจากการเจรจาที่ผ่านมาไม่มีความ ก้าวหน้า EU จึงหันมาปรับแนวทางการเจรจาความตกลง FTA เป็น ระดับทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อม เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย สำหรับไทยนั้น กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานหลักของฝ่ายไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน ภายในตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาก่อนที่จะเริ่มการเจรจา FTA กับ EU