สาธารณรัฐซูดานใต้

สาธารณรัฐซูดานใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,675 view

สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน
The Republic of South Sudan

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ระหว่างภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง และมีพรมแดนติดกับ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอธิโอเปีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา และเคนยา

พื้นที่ 619,745 ตร.กม. (ใหญ่กว่าไทยประมาณร้อยละ 20)

เมืองหลวง กรุงจูบา (Juba)

ประชากร 7.5 – 9.7 ล้านคน (2554)

ภูมิอากาศ มีอากาศร้อนชื้น

ภาษา อารบิก และอังกฤษ

ศาสนา ความเชื่อดั้งเดิม คริสต์ อิสลาม

วันชาติ 9 กรกฎาคม

การเมืองการปกครอง

เซาท์ซูดานมีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขของรัฐ และหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วยสภา 2 สภา ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (National Legislative Assembly) มีสมาชิกจำนวน 332 คน มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 4 ปี และสภาแห่งชาติ (Council of States) มีสมาชิกจำนวน 50 คน มาจากการแต่งตั้ง มีวาระ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Salva Kiir Mayardit

หลังได้รับเอกราช เซาท์ซูดานประสบปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธภายในประเทศ ซึ่งมีที่มาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้านการเมือง และเชื่อว่าบางส่วนอาจได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซูดาน ขณะนี้ รัฐบาลเซาท์ซูดานได้พยายามแก้ไขความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธ โดยใช้การเจรจา เพื่อสร้างความปรองดองและความมั่นคงให้แก่ประเทศ

เศรษฐกิจและสังคม

รายได้ของเซาท์ซูดานส่วนใหญ่มาจากการผลิตน้ำมันดิบ คิดเป็นร้อยละ 98 ของรายได้ประชาชาติ เซาท์ซูดานเป็นผู้ผลิตน้ำมันสำคัญอันดับที่ 3 ของแอฟริกา และอันดับที่ 30 ของโลก โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบวันละ 260,000 บาร์เรล ปัจจุบัน แคนาดา ฝรั่งเศส จีน อินเดีย และมาเลเซีย ได้เริ่มลงทุนด้านน้ำมันในเซาท์ซูดานแล้ว อย่างไรก็ดี ขณะนี้ เซาท์ซูดานยังต้องพึ่งพาซูดานในการส่งออกน้ำมันดิบผ่านทางเมืองท่า Port Sudan ของซูดาน

ประชากรชาวเซาท์ซูดานส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบยังชีพ เซาท์ซูดานมีที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำไวท์ไนล์ จึงมีผืนดินและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก  

เซาท์ซูดานมีนโยบายเปิดรับการลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เนื่องจากเซาท์ซูดานยากจนและขาดโครงสร้างพื้นฐาน มีถนนราดยางเพียง 60 กิโลเมตร ไฟฟ้าผลิตจากน้ำมันดีเซลและน้ำประปายังมีใช้ไม่ทั่วถึง ธนาคารโลกมีแผนที่จะสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

การต่างประเทศ

ประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการแยกประเทศเซาท์ซูดานอย่างเต็มที่ หลังจากประชาชนชาวเซาท์ซูดานลงประชามติแยกประเทศเมื่อเดือน ม.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศแสดงความยินดีและแสดงความพร้อมที่จะรับรองเซาท์ซูดานในทันที ภายหลังประกาศเอกราช เซาท์ซูดานได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกสหประชาชาติอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 14 ก.ค. และเป็นสมาชิกสหภาพแอฟริกาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ปีเดียวกัน ตามลำดับ การเป็นสมาชิกสหประชาชาติทำให้เซาท์ซูดานสามารถสมัครเป็นสมาชิกธนาคารโลก และองค์กรการเงินระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้มีสิทธิรับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาได้

การประกาศเอกราชของเซาท์ซูดานเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2554 ผ่านไปอย่างสงบเรียบร้อย แต่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างซูดานและเซาท์ซูดานยังไม่ยุติ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุความตกลงเกี่ยวกับปัญหาที่คั่งค้าง อาทิ ภาระหนี้สินของซูดานเดิม สัญชาติของประชาชน การกำหนดพรมแดน สิทธิเหนือจังหวัด Abyei และการแบ่งปันผลประโยชน์จากน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ประเด็นหลัง ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศมากที่สุด ในการนี้ สหประชาชาติได้จัดตั้งภารกิจ United Nations Interim Security Force for Abyei (UNISFA) และ UN Mission in the Republic of South Sudan (UNMISS) เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในเซาท์ซูดาน และเสริมสร้างสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างชาติ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน

รัฐบาลซูดานได้พยายามกดดันรัฐบาลเซาท์ซูดานตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) โดยตลอด โดยเพิ่มทหารในพื้นที่ชายแดน และปิดกั้นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าและเดินทางของประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศ จนเป็นสาเหตุทำให้อาหารสินค้าอุปโภคและน้ำมันเชื้อเพลิงในเซาท์ซูดานเริ่มขาดแคลนและมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลเซาท์ซูดานเชื่อว่า เป็นแผนการบ่อนทำลายฝ่ายเซาท์ซูดาน

เพื่อลดการพึ่งพาซูดาน รัฐบาลเซาท์ซูดานใช้นโยบายการขยายความร่วมมือด้านการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เอธิโอเปีย ยูกันดา และเคนยา โดยเซาท์ซูดานและเคนยาได้ร่วมกันวางแผนสร้างระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบระยะทางประมาณ 1,400 กม. จากเซาท์ซูดานมายังท่าเรือเมือง Lamu ทางตอนเหนือของเคนยา โดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนและญี่ปุ่น

ในขณะเดียวกัน เซาท์ซูดานใช้กลไกทางการทูตเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหประชาชาติและสหภาพแอฟริกา ที่เซาท์ซูดานเพิ่งเป็นสมาชิก รวมถึงประเทศมหาอำนาจกดดันรัฐบาลซูดานยุติการสู้รบและกลับสู่กระบวนการเจรจาอีกครั้ง เมื่อเดือน ก.พ. 2555 (ค.ศ. 2012) รัฐบาลซูดานและเซาท์ซูดานได้ลงนามในข้อตกลงไม่รุกรานกัน (non-aggression pact) ที่กรุงแอดดิสอาบาบา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ข้อขัดแย้ง ล่าสุด ในเดือน เม.ย. 2555 (ค.ศ. 2012) เกิดการปะทะระหว่างทหารซูดานและเซาท์ซูดาน เพื่อแย่งชิงแหล่งน้ำมันดิบ

สถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-เซาท์ซูดาน

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ขณะนี้ไทยและเซาท์ซูดานอยู่ระหว่างการดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยไทยรับรองสาธารณรัฐเซาท์ซูดานอย่างเป็นทางการแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 (ค.ศ. 2011) ฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี เป็นจุดติดต่อเซาท์ซูดานไปพลางก่อน และจะให้มีเขตอาณาครอบคลุมเซาท์ซูดานภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ ส่วนฝ่ายเซาท์ซูดานได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเซาท์ซูดานประจำเคนยาเป็นจุดติดต่อกับไทย

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

มีบริษัทก่อสร้างไทยและแรงงานไทยเข้าไปดำเนินการก่อสร้างถนนในดินแดนของเซาท์ซูดานตั้งแต่ก่อนการประกาศเอกราชจากซูดานจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทขายเครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลไทยซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงไนโรบี เริ่มเข้าไปขายเครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลในเซาท์ซูดานแล้ว

ความตกลงทวิภาคี – ยังไม่มี

การเยือนระดับสูง – ยังไม่มี

************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา 0-2643-5047-8