รัฐเอริเทรีย

รัฐเอริเทรีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ส.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,051 view

รัฐเอริเทรีย
The State of Eritrea

ข้อมูลทั่วไป

พื้นที่ 124,320 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าไทยประมาณหนึ่งในสี่) 

เมืองหลวง กรุงแอสมารา (Asmara)

ประชากร 5.48 ล้านคน  (2554)

ภาษาราชการ Afar, อารบิก

ศาสนา อิสลาม  คริสต์  (Coptic, โรมันคาทอลิก, โปรเตสแตนท์)

พื้นที่  124,320 ตารางกิโลเมตร  (เล็กกว่าไทยประมาณหนึ่งในสี่)  

เมืองหลวง กรุงแอสมารา (Asmara)

วันชาติ 24 พฤษภาคม

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย  7 ธันวาคม 2536

ภาษาราชการ Afar, อารบิก

GDP 2.9 พันล้าน USD (ไทย 345.6 พันล้าน USD)

GDP per Capita  731.0 USD (ไทย 5,112.0 USD)

Real GDP Growth  ร้อยละ 17.0 (ไทย: ร้อยละ 0.1)

สกุลเงิน แนกฟาเอริเทรีย (ERN) (1 ERN=2.07 บาท) (สถานะ ณ วันที่ 25 เม.ย. 55)

เงินทุนสำรอง 179.7 ล้าน USD (180.4 พันล้าน USD)   

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 20.0 (ไทย: ร้อยละ 3.8) 

รัฐเอริเทรียเคยอยู่ภายใต้อาณัติของเจ้าอาณานิคมหลายประเทศ เอริเทรียถูกยึดครองโดยอิตาลีเป็นระยะเวลา 72 ปี ระหว่างปี 2412 -2484 (ค.ศ. 1869-1941) ก่อนจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรอีกเป็นเวลา 11 ปี ระหว่างปี 2484 -2495 (ค.ศ. 1941-1952) ก่อนที่สหประชาชาติมีมติให้เอริเทรียมีสถานะเป็นเขตปกครองตนเอง (Autonomous entity) ภายใต้เอธิโอเปียในปี 2495 แต่ต่อมาในปี 2505 (ค.ศ. 1962) เอธิโอเปียได้ใช้กองกำลังบุกเข้าผนวกเอริเทรียเข้าเป็นจังหวัดหนึ่งของเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อเอกราชของเอริเทรียที่ยาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2534 (ค.ศ. 1991)

ในปี 2536 (ค.ศ. 1993)  สหประชาชาติได้เข้าไปจัดการให้มีการลงประชามติ เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของเอริเทรีย ผลปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนให้เอริเทรียแยกตัวเป็นเอกราชมากถึงร้อยละ 99.8 รัฐบาลชั่วคราวของเอริเทรียจึงได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2536 (ค.ศ. 1993) อย่างไรก็ดี เอริเทรียยังคงมีปัญหาขัดแย้งตามแนวชายแดนกับเอธิโอเปียมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาการปักปันเขตแดนจนเกิดการสู้รบแย่งชิงดินแดนในระหว่างปี 2541-2543 (ค.ศ. 1998-2000) และแม้ว่าสงครามจะได้ยุติแล้ว แต่ความตึงเครียดอันเนื่องมาจากการตกลงกันไม่ได้ในปัญหาการปักปันเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

นับตั้งแต่แยกตัวเป็นเอกราช เอริเทรียปกครองด้วยระบบสังคมนิยมแบบพรรคเดียว ภายใต้การนำของพรรค People’s Front for Democracy and Justice (PFDJ) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นระบบสภาเดียวมีสมาชิก 150 คน ปัจจุบัน เอริเทรียมีระบบศาลที่แยกตัวเป็นอิสระ ประกอบด้วยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายอิเซเอียส อัฟเวอร์กี (Isaias Afwerki) ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่เอริเทรียแยกตัวเป็นเอกราช เคยได้รับการศึกษาด้านการทหารจาก Nanjing Army Command College

เศรษฐกิจและสังคม

เอริเทรียเป็นประเทศที่ยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลัก สงครามระหว่างเอธิโอเปียและเอริเทรียในช่วงปี 2541-2543 (ค.ศ. 1998-2000) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาสังคม อาทิ การสาธารณสุขไม่ได้มาตรฐาน อัตราการว่างงานและอัตราการไม่รู้หนังสือของประชาชนอยู่ในระดับสูง

รัฐบาลเอริเทรียมีนโยบายการพัฒนาประเทศที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติในด้านต่างๆ ได้แก่
(1) ทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุ อาทิ ทองคำ ทองแดง โปแตช (2) การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวตามชายหาดและเกาะต่าง ๆ ในทะเลแดง (3) การประมง และ (4) การเกษตร นอกจากนี้ รัฐบาล เอริเทรียยังได้จัดตั้งเขต free trade zone ที่เมืองท่า Massawa เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าซึ่งได้ช่วยดึงดูดให้มีบริษัทต่างชาติมากกว่า 20 บริษัท จากจีน ออสเตรเลีย และแคนาดา เข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ รัฐบาลเอริเทรียมีข้อสงวนและข้อจำกัดพอสมควร บริษัทที่สนใจจะ ต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศให้รัฐบาลพิจารณาก่อนลงทุน ส่วนการขอสัมปทานทำประมงจะต้องเป็นการลงทุนแบบรัฐต่อรัฐเท่านั้น

เอริเทรียเป็นประเทศที่มีความสงบเรียบร้อย ชาวเอริเทรียส่วนใหญ่มีพื้นฐานจิตใจดี ไม่ลักขโมย
หรือฉ้อโกง ทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมน้อย ชาวเอริเทรียนิยมการพึ่งพาตนเองมากกว่าขอความช่วยเหลือจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชาติตะวันตก นโยบายหนึ่งของเอริเทรียที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน หรือความช่วยเหลือจากต่างชาติ คือ การปฏิบัติต่างตอบแทนเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เอริเทรียจะไม่รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาติตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงกิจการภายในของตน

การต่างประเทศ

รัฐบาลเอริเทรียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลกาตาร์ ปากีสถาน และจีนมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ให้ความช่วยเหลือเอริเทรียในหลายด้าน อย่างไรก็ตาม เอริเทรียมีความสัมพันธ์ค่อนข้างห่างเหินกับประชาคมระหว่างประเทศ และมีความหวาดระแวงต่อประเทศเพื่อนบ้านและมหาอำนาจ อาทิ เอธิโอเปีย จิบูตี เยเมน และสหรัฐอเมริกา เอริเทรียตำหนิประเทศมหาอำนาจว่า มุ่งทำลายภาพลักษณ์ของเอริเทรีย เนื่องจากเอริเทรียไม่โอนอ่อนตามแนวทางที่ประเทศมหาอำนาจหยิบยื่นมาให้ นอกจากนี้ เอริเทรียยังไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศในแอฟริกาโดยประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลในโซมาเลีย

ความขัดแย้งกับเอธิโอเปีย เอริเทรียยังคงมีปัญหาาการปักปันเขตแดนกับเอธิโอเปีย จนเกิดการสู้รบแย่งชิงดินแดนในระหว่างปี 2541-2543 (ค.ศ. 1998-2000) ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งสหประชาชาติและสหภาพแอฟริกาได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งดัง กล่าว จนกระทั่งนำไปสู่การยินยอมถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกในเดือนกรกฎาคม 2542 (ค.ศ. 1999) โดยเอริเทรียและเอธิโอเปียเห็นชอบร่วมกันในข้อตกลงการยุติความเป็นปฏิปักษ์ ต่อกัน (Agreement of Cessation of Hostilities) นอกจากนี้ ได้ร้องขอให้สหประชาชาติเข้าวางกองกำลังรักษาสันติภาพเพื่อสนับสนุนให้ทั้ง สองฝ่ายดำเนินการตามข้อตกลง และร่วมกันกำหนดเขตปลอดภัยชั่วคราว (Temporary Security Zone: TSZ) ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกัน ต่อมา

ในปี 2543 (ค.ศ. 2000) ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพ Comprehensive Peace Agreement (CPA) หรือ Algiers Peace Agreement ที่ระบุให้ยกเลิกการใช้กำลังทางทหาร ยุติการใช้กำลังเผชิญหน้า เคารพและดำเนินการตามข้อตกลงการยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างเคร่งครัด ปล่อยและส่งตัวนักโทษสงครามหรือผู้ที่ถูกกักขังอันเนื่องจากสงครามกลับ ประเทศ โดยเฉพาะยินยอมให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการพื้นที่กลาง (Neutral Boundary Commission) ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดและปักปันเขตแดนระหว่างสองประเทศ และในปีเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จึงได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1312 (2000) จัดตั้งภารกิจสหประชาชาติในเอธิโอเปียและเอริเทรีย (United Nations Mission in Ethiopia and Eritrea: UNMEE) เพื่อดูแลการดำเนินการตามข้อตกลงการยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน สนับสนุนและสังเกตการณ์ความตกลงด้านความมั่นคงระหว่างสองฝ่าย ดูแลและตรวจสอบการวางกำลังของฝ่ายเอธิโอเปีย ประเมินสถานะกองกำลังของทั้งสองฝ่ายเมื่อจะเข้าวางกำลังอีกครั้ง ตรวจสอบพื้นที่ TSZ ประสานงานและจัดหาความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้แก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ในพื้นที่ TSZ และบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศด้าน มนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดตามแนวชายแดนเอธิโอเปียและเอริเทรียทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ในเดือนตุลาคม 2549 (ค.ศ. 2006) เมื่อกลุ่มทหารติดอาวุธ พร้อมรถถังและปืนใหญ่ของเอริเทรีย ลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ TSZ ซึ่งละเมิดข้อตกลงการยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน และเสริมกำลังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ฝ่ายเอธิโอเปียเสริมกำลังทหารของตนตามบริเวณแนวชายแดนเช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายได้เสริมกำลังเพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2550 (ค.ศ. 2007) และยังไม่มีทีท่าถอนกำลัง ทั้งสองฝ่ายยังคงเผชิญหน้ากันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของพื้นที่ TSZ และมีการปะทะกันประปรายในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลของสองฝ่ายต่างพยายามกล่าวโจมตีกันและกันตลอดเวลาในเวทีระหว่างประเทศ ต่อมาในปี 2551 (ค.ศ. 2008) เอริเทรียมีท่าทีไม่สนับสนุนการดำเนินภารกิจ UNMEE และไม่ปฏิบัติตามอาณัติของภารกิจ และ CPA ส่งผลให้ภารกิจ UNMEE สิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 (ค.ศ. 2008)

ความขัดแย้งกับจิบูตี เอริเทรียมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องพรมแดนกับจิบูตี บริเวณ Cape Doumeira และ Doumeira Islands มีบางส่วนเป็นพื้นที่สากล (international boundary) และเขตปลอดทหาร โดยสร้างป้อมปราการ ขุดสนามเพลาะ และอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว ทำให้จิบูตีจึงร้องขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวติดกับชายแดนทางตอนเหนือของจิบูตี ในที่สุด ความขัดแย้งระหว่างเอริเทรียกับจิบูตีปะทุขึ้น เมื่อวันที่ 10-13 มิถุนายน 2551 (ค.ศ. 2008) ทหารเอริเทรียได้รุกล้ำเข้าไปในดินแดนทางตอนเหนือของจิบูตี ทำให้จิบูตีต้องใช้กำลังทางทหาร ภายใต้ความช่วยเหลือทาง logistic และการแพทย์จากฝรั่งเศสขับไล่เอริเทรียออกจากพื้นที่ ถึงแม้ว่า UNSC และกลุ่มประเทศสันนิบาติอาหรับได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความพยายามอดทน อดกลั้นไม่ใช้กำลังและความรุนแรง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จากการปะทะดังกล่าวทำให้ทหารจิบูตีเสียชีวิต 44 นาย บาดเจ็บ 55 นาย และทหารเอริเทรียเสียชีวิต 100 นาย และถูกจับ 100 นาย UN จึงได้เรียกร้องให้เอริเทรียถอนกำลังทหารออกจากดินแดนดังกล่าว

ในปัจจุบัน สถานการณ์กับจิบูตีในขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลกาตาร์ได้เข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย

กรณีการคว่ำบาตรเอริเทรีย เมื่อ พ.ย. 2552 (ค.ศ. 2009) AU และยูกันดา ในฐานะสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC ในขณะนั้น ได้เสนอร่างเอกสารในที่ประชุม UNSC เพื่อดำเนินการคว่ำบาตรเอริเทรีย โดยให้เหตุผลว่า เอริเทรียอยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบเพื่อล้มล้างรัฐบาลชั่วคราวของโซมาเลีย โดยให้การสนับสนุนกองกำลังอิสลามหัวรุนแรงกลุ่ม al Shabaab ในการทำสงครามต่อสู้กับรัฐบาลโซมาเลีย อย่างไรก็ตาม เอริเทรียได้ปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว และได้ตอบโต้โดยการเรียกทูตเอริเทรียประจำ AU กลับประเทศ

ต่อมา เมื่อ 23 ธันวาคม 2552 (ค.ศ. 2009) UNSC ได้ออกข้อมติที่ 1907 (2009) คว่ำบาตรเอริเทรีย (จีนงดออกเสียง และลิเบียคัดค้าน) ซึ่งรัฐบาลเอริเทรียได้ออก Press Release “A Shameful Day for the United Nations” เพื่อตอบโต้ข้อมติ UNSC ดังกล่าว โดยมีเนื้อหามุ่งโจมตีสหรัฐฯ และ UN ซึ่งเอริเทรียเห็นว่า มีทัศนคตีที่มุ่งร้ายและไม่เป็นธรรมต่อเอริเทรีย ในการนี้ ครม. ไทย ได้มีมติรับรองการดำเนินการตามข้อมติ UNSC ดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2553 (ค.ศ. 2010) ซึ่งเป็นเรื่องของการคว่ำบาตรทางอาวุธ การห้ามเดินทาง และการอายัติทรัพย์สินของบุคคลหรือองค์กรที่ UNSC กำหนด ซึ่งไทยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2554 (ค.ศ. 2011) ประเทศสมาชิก UNSC 13 ประเทศ (ยกเว้นจีนและรัสเซียที่งดออกเสียง) ได้สนับสนุนการออกข้อมติที่ 2023 (2011) เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเอริเทรีย โดยให้ประเทศที่ลงทุนด้านเหมืองแร่ในเอริเทรียระมัดระวังไม่ใช่เงินลงทุนของตนถูกรัฐบาลเอริเทรียนำไปใช้สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย

แนวโน้ม ในขณะที่เอริเทรียพยายามกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศในแอฟริกาอีกครั้ง โดยกลับเข้ามาเป็นสมาชิก AU แล้ว ในขณะเดียวกัน เอธิโอเปียยังคงพยายามโดดเดี่ยวเอริเทรียต่อไป โดยรณรงค์ให้ประชาคมนานาชาติคว่ำบาตรเอริเทรียให้รุนแรงกว่าเดิมด้วยเหตุผลว่า เอริเทรียเป็นผู้สนับสนุนกลุ่ม al-Shabaab ในโซมาเลีย อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวคงไม่ได้รับการตอบรับจากประชาคมนานาชาติมากนัก เนื่องจากบริษัทต่างชาติจากหลายประเทศได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ในเอริเทรีย แต่ท่าทีดังกล่าวของเอธิโอเปียอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเอธิโอเปียและเอริเทรียยังคงตึงเครียดต่อไป

ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-เอริเทรีย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและเอริเทรียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2536 (ค.ศ. 1993) โดยความสัมพันธ์ยังห่างเหิน ไม่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน และยังไม่มีการจัดทำความตกลงใด ๆ ระหว่างกัน ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี มีเขตอาณาครอบคลุมเอริเทรีย ในขณะที่ฝ่ายเอริเทรียมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตเอริเทรียประจำอินเดีย มีเขตอาณาครอบคลุมไทย และแต่งตั้งให้นายสุนทร เก่งวิบูล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์รัฐเอริเทรียประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2550 (ค.ศ. 2007) เรือ อ. ศิริชัยนาวา 9 พร้อมด้วยลูกเรือประมงไทย 25 คน

และเจ้าหน้าที่ประมงเยเมน 6 คน รวม 31 คน ซึ่งทำประมงภายใต้สัมปทานประมงของเยเมน ถูกกองทัพเรือ เอริเทรียจับระหว่างเดินทางกลับไปยังท่าเรือ Aden ประเทศเยเมน ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2551(ค.ศ. 2008) ศาลทหารและศาลพิเศษของเอริเทรียได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า เรือลำดังกล่าวเข้าสู่น่านน้ำเอริเทรียและทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาต รัฐบาลไทยได้พยายามติดต่อรัฐบาลเอริเทรียเพื่อให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากรัฐบาลเอริเทรีย จนกระทั่งไทยได้ขอให้รัฐบาลกาตาร์ช่วยเจรจา ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2551 (ค.ศ. 2008) ออท. กาตาร์/ปทท. แจ้งว่า รัฐบาลเอริเทรียยินยอมปล่อยตัวลูกเรือไทยแล้ว และนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ เจ้าของบริษัทฯ ได้เดินทางไปเจรจาและจ่ายค่าปรับกับรัฐบาลเอริเทรีย

เศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเอริเทรียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2553 (ค.ศ. 2010)

การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่า 2.7 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐนำเข้า 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 2.3 แสนดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มเป็น 30.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) และไม่มีการนำเข้าสินค้าจากเอริเทรีย สินค้าที่ส่งออกไปเอริเทรีย คือ น้ำตาลทราย หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก

แม้ว่าปัจจุบันผลประโยชน์ของไทยในเอริเทรีย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในแอฟริกา แต่ไทยจำเป็นจะต้องรักษาช่องทางการติดต่อและเสริมสร้างความสัมพันธ์มิให้อยู่ในระดับที่ห่างเหิน เนื่องจากเอริเทรียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน เอริเทรียก็แสวงหาความเข้าใจ ตลอดจนการสนับสนุนทางการเมืองจากไทยในกรอบเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ

ความตกลงทวิภาคี

ยังไม่มีความตกลงระหว่างกัน

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายเอริเทรีย

เมื่อวันที่ 6-11 สิงหาคม 2552 นายอาเลม เซฮาเย โวลเดมาริอัม (Mr. Alem Tsehaye Woldemariam) เอกอัครราชทูตเอริเทรียประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ