นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงกรุงโซล พบอำลาประธานาธิบดี อี มยอง-บัก พร้อมขอบคุณสำหรับบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ ให้ก้าวหน้า

นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงกรุงโซล พบอำลาประธานาธิบดี อี มยอง-บัก พร้อมขอบคุณสำหรับบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ ให้ก้าวหน้า

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.พ. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,560 view

เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสำคัญ อาทิ นายสุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางถึงกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี 

ในโอกาสดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังทำเนียบประธานาธิบดี (Blue House) เพื่อหารือข้อราชการกับนายอี มยอง-บัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นวันสุดท้าย เพื่อแสดงความขอบคุณ พร้อมกับอำลาในโอกาสพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยนายกรัฐมนตได้กล่าวอำลาและขอบคุณสำหรับมิตรภาพที่อบอุ่น รวมทั้งวิสัยทัศน์ข้อแนะนำต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้จากประธานาธิบดี อี มยอง-บัก ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ติดตามนโยบายการบริหารประเทศของประธานาธิบดีด้วยความชื่นชม โดยเฉพาะนโยบาย Low Carbon, Green Growth ที่ประธานาธิบดีได้ริเริ่ม และเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญที่ช่วยส่งเสริม New Growth Engines ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก และยังเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกาหลีใต้เป็นที่ยอมรับและมีบทบาทอย่างกว้างขวางในเวทีระหว่างประเทศ  รวมทั้งการสนับสนุนความตกลงยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

การเยือนไทยของประธานาธิบดีอี มยอง-บัก ที่ผ่านมา เป็นผลสำเร็จที่น่ายินดี และมีการติดตามผลการหารืออย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องการศึกษาการจัดทำ FTA หรือ CEPA ทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการประชุมร่วมกัน บัดนี้ ฝ่ายไทยก็ได้เริ่มเดินหน้าให้มีการศึกษาแล้ว หวังว่าจะสรุปได้ในปีนี้  ส่วนเรื่องการขยายการค้าระหว่างกัน ไทยพร้อมที่จะจัดประชุมรัฐมนตรีการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายทันทีที่ฝ่ายเกาหลีใต้พร้อม นอกจากนี้ การเดินหน้าในเรื่อง “Strategic Partnership” มีความคืบหน้า ซึ่งขอให้มีการประชุม Joint Commission ในปีนี้ จะได้ตั้งคณะทำงานในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมต่อไป

สำหรับความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นั้น บริษัท K-Water ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งต่อจากนี้จะให้แต่ละบริษัทที่ผ่านกาพิจารณาจัดทำข้อเสนอรายละเอียดด้านราคาและเทคนิค เพื่อพิจารณาขั้นสุดท้ายในเดือนเมษายน โดยในภาพรวม ฝ่ายไทยจะพิจารณาเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด ที่สำคัญคือต้องเหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศไทย นอกจากนั้น จะดูความคุ้มค่า เปรียบเทียบกับราคา การถ่ายทอดเทคโนโลยีประกอบด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดูที่ http://www.thaigov.go.th/th/2012-07-18-11-42-15/item/75571