วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.พ. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562
"นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา พร้อมด้วยข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ รวมทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนประเทศปาปัวนิวกินี ระหว่างวันที่ 17 – 21 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อเตรียมการต้อนรับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งกำหนดจะเดินทางเยือนปาปัวนิวกินีอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มีนาคม 2556 กิจกรรมที่สำคัญในโอกาสการเยือนของเอกอัครราชทูตมาริษฯ มีดังนี้
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556
เอกอัครราชทูตมาริษฯ และคณะได้หารือกับฝ่ายปาปัวนิวกินีและผู้เกี่ยวข้องในกรุง Port Moresby ในเรื่องขั้นตอนและพิธีการต้อนรับ รวมทั้งสารัตถะ และหัวข้อการหารือต่าง ๆ กับฝ่ายปาปัวนิวกินี ในเรื่องการต้อนรับการเยือนปาปัวนิวกินีของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังได้ใช้โอกาสนี้ติดตามและผลักดันความคืบหน้าของความตกลง/บันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและปาปัวนิวกินี ได้แก่ 1) การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน 2) การยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน 3) ความร่วมมือด้านการประมง 4) ความร่วมมือด้านวิชาการ 5) กรอบการหารือทวิภาคี (Bilateral Consultation) ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-ปาปัวนิวกินี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปูทางและสร้างกรอบความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนของสองฝ่าย
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556
- พบหารือกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยปาปัวนิวกินี (University of Papua New Guinea) ได้แก่ ศ. ดร. Albert Mellam, Vice Chancellor & CEO และ ศ. P.Subba Rao, Acting Pro Vice-Chancellor เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยและปาปัวนิวกินี รวมทั้งเตรียมความพร้อมที่จะจัดตั้ง Thailand Corner ในโครงการ Southeast Asian Study ซึ่งอยู่ภายใต้ คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยฯ โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นข้อริเริ่มของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งกำหนดจะเดินทางเยือนมหาวิทยาลัยฯ ในวันที่ 25 มีนาคม 2556 และจะเป็นประธานในพิธีมอบสื่อการเรียนรู้และสื่อทัศนูปกรณ์เกี่ยวกับประเทศไทยสำหรับ Thailand Corner อนึ่ง เอกอัครราชทูตมาริษฯ ได้วางแนวทางร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ เพื่อสืบทอดข้อริเริ่มของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฯ ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยไปหารือและพิจารณาเปิดหลักสูตรวิชาการเมืองการปกครองของไทยต่อไปในอนาคต
- พบหารือกับคุณไพบูลย์ เวทย์วัฒนะ ประธานบริษัท Homestate Co-Operation Limited ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าข้าวหลายประเภทจากประเทศไทยเพื่อจำหน่ายในปาปัวนิวกินี ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดในปาปัวนิวกินีร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ครองตลาดโดยบริษัท Trukai จากออสเตรเลีย โดยเอกอัครราชทูตมาริษฯ ได้เน้นเรื่องการมุ่งส่งเสริมการนำเข้าข้าวจากไทยเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดสำหรับข้าวไทยให้มากขึ้น นอกจากข้าว บริษัทฯ ยังนำเข้าเกลือและน้ำตาลทรายจากประเทศไทยด้วย ในอนาคตบริษัทฯ มีแผนงานที่จะนำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ ได้หารือกับเอกอัครราชทูตมาริษฯ เพื่อหาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ด้วย อนึ่ง ในโอกาสดังกล่าวนาย Moses Maladina ผู้แทนการค้า (Trade Commissioner) ของปาปัวนิวกินีได้เข้าร่วมหารือด้วย
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556
- พบหารือกับนาย Ron Seddon ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมปาปัวนิวกินีและสมาชิกสโมสรโรตารีปาปัวนิวกินี เกี่ยวกับการเตรียมการต้อนรับการเยือนปาปัวนิวกินีของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน รวมทั้งลู่ทางที่จะพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือ
ระหว่างภาคธุรกิจของไทยและปาปัวนิวกินีให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต
- พบหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของ Investment Promotion Authority ของปาปัวนิวกินีได้แก่ นาย Daroa Peter และนาย Clarence M Hoot เกี่ยวกับลู่ทางการส่งเสริมและขยายปริมาณการลงทุนของนักธุรกิจไทยในปาปัวนิวกินี รวมทั้งใช้โอกาสดังกล่าว เตรียมความพร้อมที่จะต้อนรับนักธุรกิจของไทยที่จะร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนปาปัวนิวกินีในวันที่ 25 มีนาคม 2556
- เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแด่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ปาปัวนิวกินีประจำประเทศไทย ซึ่งเดินทางเยือนกรุง Port Moresby และมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ของปาปัวนิวกินี ในโอกาสนี้เอกอัครราชทูตมาริษฯ ได้หารือเพื่อที่จะขยายตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทยในปาปัวนิวกินีด้วย "
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **