รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวเรื่องการเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ ๕ ที่เวียงจันทน์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวเรื่องการเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ ๕ ที่เวียงจันทน์

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มี.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,407 view

เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวเรื่องการเยือนเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 

๑. ACMECS ริเริ่มโดยไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ โดยในปีนี้จะครบรอบ ๑๐ ปี ของการจัดตั้ง ประเทศสมาชิกได้แก่  ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม และเป็นเวทีส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (donor country) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก มิให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และให้สอดคล้องกับเป้าหมายของอาเซียน
 

๒. โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม (connectivity) ของรัฐบาลมูลค่า ๒.๒ ล้านล้านบาท สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือ ACMECS และเป้าประสงค์ของไทย โดยไทยให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเมืองสำคัญ ๆ ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อโครงการลงทุนแล้วเสร็จเป็นรูปธรรม ปริมาณการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มสูงขึ้นจาก ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท/ปี ในปัจจุบัน เป็น ๔๕,๐๐๐ ล้านบาท/ปี โดยแผนการลงทุนของรัฐบาลมูลค่า ๙๕๔,๐๐๐ ล้านบาท จากงบประมาณโครงการลงทุนทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
 

๓. อนึ่ง ในปี ๒๕๕๕ ปริมาณการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีมูลค่า ๙๑๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยการค้าชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย มีมูลค่า ๕๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็นการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ 
 

๔. ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๕ จะรับรองเอกสาร ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญาเวียงจันทน์ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ที่จะผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS และ (๒) แผนปฏิบัติการ ACMECS ๒๕๕๖-๒๕๕๘ ซึ่งจะเน้นการที่ประเทศสมาชิกมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงการผลิตเพื่อเป็นฐานการผลิตเดียว ตามทิศทางของการเป็นประชาคมอาเซียน และเพื่อเป็นห่วงโซ่การผลิตทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของโลก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามของสภาธุรกิจร่วมไทย – กัมพูชา ซึ่งจะเป็นแนวทางของกรอบความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของไทยกับสภาหอการค้ากัมพูชาด้วย
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ