รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ รวมทั้งขยายความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยกับรัสเซีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ รวมทั้งขยายความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยกับรัสเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,189 view

เมื่อเย็นวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖ ระหว่างการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Mr. Sergey Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับรัสเซียอย่างกว้างขวาง

ในด้านการค้า รัฐมนตรีว่าการฯ แสดงความหวังที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นสองเท่าตัวจากห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๕๕ เป็นหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ๒๕๕๙ และเรียกร้องให้รัสเซียเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากไทย เช่น ข้าว ยางพารา อาหารแปรรูป และอาหารแช่เข็ง รวมทั้งเชิญชวนให้นักธุรกิจรัสเซียเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ไทยกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มความเชื่อมโยงเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘

ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันการศึกษา เพิ่มความยืดหยุ่นให้นักเรียนไทยที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลรัสเซียสามารถเลือกสาขาวิชาและสถาบันการศึกษาได้ และสนับสนุนให้นักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่สถาบันการศึกษา    ชั้นนำในรัสเซียมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยกับของรัสเซียให้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัย เทคโนโลยี และสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมกัน

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอให้รัสเซียเร่งกระบวนการเจรจาความตกลงที่ยังคั่งค้าง เช่น บันทึกความเข้าใจ   ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ให้รัสเซียมีบทบาทสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานในประเทศไทย และพิธีสารแก้ไขความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซีย เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

รัฐมนตรีว่าการฯ ขอรับการสนับสนุนจากรัสเซีย ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งของไทยในตำแหน่งสมาชิกของคณะมนตรีฯ วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบหนังสือจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ฯ เชิญนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยอาจเป็นช่วงที่นายปูตินเดินทางไปร่วม  การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่จะมีขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงปลายปีนี้

ภายหลังการหารือ รัฐมนตรีว่าการฯ ทั้งสองได้ร่วมลงนามในแผนการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับรัสเซีย สำหรับปี ๒๕๕๖ – ๒๕๕๘ เพื่อเป็นกลไกในการพูดคุยและหารือเรื่องต่างๆ อย่างใกล้ชิด

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันก่อนการหารือ รัฐมนตรีว่าการได้นำคณะผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเข้าศึกษาดูงานและพบผู้บริหารระดับสูงของสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Academy of Sciences – RAS) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางขยายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทยกับของรัสเซีย สร้างเครือข่ายระหว่างสถาบัน รวมทั้งผลักดันการจัดทำความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยกับรัสเซีย โดยให้มีการลงนามระหว่างการเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรในช่วงกลางปี ๒๕๕๖

รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงมุ่งดำเนิน “การทูตเชิงวิทยาศาสตร์” โดยแสวงความร่วมมือกับต่างประเทศในการค้นคว้าและวิจัยร่วม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนานาประเทศในภาพรวม

การเยือนกรุงมอสโกครั้งนี้ เป็นการเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยครั้งแรกในรอบ ๘ ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างไทยกับรัสเซีย และเพื่อเตรียมการสำหรับการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ไทยกับรัสเซียจะยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ