รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก แถลงข่าวสรุปการให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก แถลงข่าวสรุปการให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,019 view

เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และตัวแทนประเทศไทยในการต่อสู้คดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติได้แถลงสรุปและตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

๑) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวขอบคุณคณะที่ปรึกษากฎหมาย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และข้าราชการทุกคนที่สนับสนุนการต่อสู้คดีฯ พร้อมกล่าวเสริมว่า การต่อสู้คดีฯ ครั้งนี้  เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศที่สร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชนชาวไทยซึ่งได้ร่วมส่งกำลังใจให้แก่คณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปให้การต่อศาลฯ

๒) เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก กล่าวขอบคุณรัฐบาล ทุกส่วนราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้สนับสนุนภารกิจ พร้อมกล่าวขอบคุณสำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงถ้อยแถลงของทีมต่อสู้คดีฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ได้อธิบายวิธีการทำงานของคณะต่อสู้คดีฯ และย้ำว่า ความสำเร็จของการให้การต่อศาลฯ หากมี มิใช่ของตนเองผู้เดียว แต่เป็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

๓) เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ชี้แจงต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติมด้วยว่า ทีมต่อสู้คดีฯ เห็นพ้องว่า การตัดสินคดีปราสาทพระวิหารในปี ๒๕๐๕ ซึ่งศาลฯ ได้อ้างการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชานั้น  ไม่เป็นธรรมกับพระองค์ เนื่องจากในขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปยังปราสาทพระวิหาร พระองค์มิได้ทรงดำรงตำแหน่งใด หากแต่เสด็จไปในฐานะนักโบราณคดี คณะทนายความจึงได้ยกประเด็นนี้ ชี้แจงต่อศาลฯ โดยเปรียบเทียบกับการเสด็จไปยังปราสาทพระวิหารของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ในขณะที่ทรงดำรงฐานะพระประมุขแห่งรัฐ การเปรียบเทียบดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการสู้คดีของไทยแล้ว ยังย้ำความไม่เป็นธรรมในอดีตสำหรับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วย

๔) หลังจากนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และคณะที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

(๑) สื่อมวลชนยังไม่ควรคาดคะเนผลการตัดสินของศาลฯ เนื่องจากศาลฯ จะพิจารณาข้อกฎหมาย ที่นำเสนอโดยทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะมีคำตัดสินต่อไป ซึ่งคำตัดสินอาจเป็นไปได้ ๔ แนวทางตามที่เคยชี้แจงแล้ว  คือ ๑) ศาลฯ ไม่รับฟ้อง ๒) ศาลฯ ตัดสินตามข้อต่อสู้ของไทย ๓) ศาลฯ ตัดสินตามคำขอของกัมพูชา และ  ๔) ศาลฯ ตัดสินออกมาในแนวทางอื่นที่ศาลฯ เห็นเหมาะสม ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ เจมส์ ครอว์ฟอร์ด หนึ่งในที่ปรึกษากฎหมาย ได้กล่าวเสริมว่า สาธารณชนไทยควรภาคภูมิใจว่า คณะผู้แทนของไทยได้ต่อสู้คดีฯ อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ผลการตัดสินย่อมขึ้นอยู่กับศาลฯ

(๒) ต่อกรณีที่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขอให้ทั้งสองฝ่ายส่งเอกสารเพิ่มเติม ระบุขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามที่แต่ละฝ่ายเข้าใจ นั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก กล่าวว่า ฝ่ายไทยจะสามารถส่งเอกสารได้ตามกำหนดในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ อย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวได้

(๓) ภารกิจต่อไปคือ การเร่งให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อสู้คดีฯ ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจคำตัดสินของศาลฯ ภายหลังศาลฯ มีคำตัดสินซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ ๖ เดือน

(๔) เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก กล่าวว่า ตนและคณะที่ปรึกษากฎหมายยังไม่ได้ติดต่อกับฝ่ายกัมพูชาหลังจากการให้การทางวาจา แต่ยืนยันว่าสามารถติดต่อกันได้หากจำเป็นและได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ย้ำว่าไทยและกัมพูชาเป็นมิตรประเทศ การมีคดีความในศาลฯ มิได้หมายความว่าทั้งสองฝ่ายเป็นศัตรูกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ