รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร

รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 2,806 view

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๖.๐๐ น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนายฮิวโก้ สไวร์ (Hugo Swire) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะและแนะนำตัวในโอกาสเยือนไทย เพื่อเป็นประธานร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศในการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร (Thailand – UK Strategic Dialogue) โดยในโอกาสดังกล่าว นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน สรุปผลการหารือ ดังนี้
 

๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความยินดีที่การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อตกลงระหว่างนายกรัฐมนตรีสองฝ่ายระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนพฤศจิกายน๒๕๕๕ สามารถจัดขึ้นภายในห้วงเวลาเพียง ๖ เดือน และประสบผลสำเร็จด้วยดี โดยสองฝ่ายได้หารือประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ได้แก่ เรื่องการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยที่ประชุมเสนอให้รัฐบาลสองฝ่ายพิจารณาเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสองเท่าภายในปี ๒๕๖๑ ความร่วมมือด้านกงสุล (ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน รวมทั้งนักเรียน/นักศึกษาประมาณ ๘,๐๐๐ คน ขณะที่มีชาวอังกฤษอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน)  และการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๙ แสนคน/ปี ถือเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในสหภาพยุโรปที่เดินทางมาประเทศไทยมากที่สุด โดยไทยและสหราชอาณาจักรตกลงจะจัดตั้งกลไกทวิภาคีเพื่อหารือประเด็นด้านกงสุลและการดูแลนักท่องเที่ยวดังกล่าว ฯลฯ 

๒.  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำคำเชิญของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ฯ ให้นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องกระบวนการปรองดองภายในประเทศของสหราชอาณาจักร อาทิ กรณีไอร์แลนด์เหนือ

๓. ในประเด็นระดับภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ สองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย - EU และ ASEAN - EU ความร่วมมือระหว่างประเทศ (การขอรับการสนับสนุนในการสมัครรับเลือกตั้งในเวทีระหว่างประเทศ) พัฒนาการเชิงบวกในเมียนมาร์ ข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา ทะเลจีนใต้ ตลอดจนสถานการณ์ความรุนแรงในซีเรียและการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ  
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ