นายกรัฐมนตรีหารือนายกรัฐมนตรีตุรกี มุ่งเป้าเพิ่มการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงประชาชนสองประเทศ

นายกรัฐมนตรีหารือนายกรัฐมนตรีตุรกี มุ่งเป้าเพิ่มการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงประชาชนสองประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,838 view

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบหารือกับ นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน นายกรัฐมนตรีตุรกี และหารือข้อราชการแบบเต็มคณะ ณ สำนักนายกรัฐมนตรี นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

ด้านความสัมพันธ์ นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีตุรกีอีกครั้งหลังจากที่ได้พบกันระหว่างการประชุม Bali Democracy Forum เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี มีความราบรื่น โดยในปี ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นปีครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ตุรกี ๖๐ ปี จะมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ที่ยาวนานและแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ อีกทั้งการพบปะกันในครั้งนี้มีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรม โดยจะได้ลงนามแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้กลายเป็นหุ้นส่วนที่มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดทำความตกลง FTA ไทย-ตุรกี โดยเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ (Joint feasibility study) ร่วมกันก่อน และเห็นควรที่จะเพิ่มมูลค่าทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรมใน ๕ ปีข้างหน้า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียืนยันว่าสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทยกลับสู่ภาวะปกติ และเชิญชวนให้ภาคเอกชนตุรกีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง ซึ่งตุรกีมีศักยภาพสูงเป็นอันดับสองของโลก และในการเยือนครั้งนี้ได้นำภาคเอกชนไทยในด้านต่างๆ อาทิ พลังงาน ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารฮาลาล ก่อสร้าง และสิ่งทอ เพื่อแสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ ในด้านที่ตุรกีมีศักยภาพ

ความเชื่อมโยง ทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางการขนส่งเพื่อเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าไทยจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกว่า ๖๖ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงลาว และจีน รวมไปถึงรัสเซียและยุโรป เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของประชาคมอาเซียน และไทยยังสนใจที่จะพัฒนาตุรกีเชิญเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกับโครงการ New Silk Road ของตุรกีเพื่อเชื่อมทวีปเอเชีย-ยุโรปด้วย

การท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ประชาชนเดินทางติดต่อกันมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่ทั้งสองประเทศประกาศยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาให้แก่กัน นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้วางแผนที่จะเปิดสถานกงสุลประจำเมืองอันทาเลียและนครอิซเมียร์ เช่นเดียวกับฝ่ายตุรกีได้วางแผนจะเปิดสถานกงสุลที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการท่องเที่ยวและการค้าในอนาคต

การศึกษาและวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณรัฐบาลตุรกีที่มอบการศึกษาให้กับนักเรียนไทยทุกปี และฝ่ายไทยยินดีที่จะให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนตุรกีเช่นกัน และเมื่อต้นปีนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ร่วมมือกับ Ankara University ของตุรกี จัดตั้งศูนย์ตุรกีแห่งแรกในประเทศไทยที่วิทยาเขตปัตตานี ด้วย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังชื่นชมตุรกีในฐานะประเทศผู้มีบทบาทหลักด้านมุสลิมสายกลาง ไทยจึงหวังให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการฝึกอบรมผู้สอนศาสนาอิสลามเพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านศาสนา โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้ของไทยที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก

องค์การความร่วมมือศาสนาอิสลาม (OIC) นายกรัฐมนตรีขอบคุณตุรกีที่เข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยและสนับสนุนไทยในกรอบ OIC อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยขอยืนยันว่าจะยุติความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี  และให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐ

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีตุรกีเป็นประธานในพิธีลงนามความตกลง จำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่ ๑. สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ๒.แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ตุรกี ๓.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและการฝึกอบรมนักการทูตระหว่างสถาบันการต่างประเทศของไทยกับตุรกี

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ เว็บไซด์สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล