ปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต: เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” (Uniting for the Future: Learning from each other’s experiences)

ปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต: เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” (Uniting for the Future: Learning from each other’s experiences)

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,464 view

เมื่อเช้าวันที่ 2 กันยายน 2556 สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ ร่วมกับสถาบันการต่างประเทศเทววงศ์วโรปการ ได้จัดปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต: เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” (Uniting for the Future: Learning from each other’s experiences) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีองค์ปาฐก ได้แก่นาย Tony Blair  อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นาย Martti Ahtisaari  อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ และนางสาว Priscilla Hayner  ที่ปรึกษาอาวุโส Centre for Humanitarian Dialogue และผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดงานโดยย้ำถึงความสำคัญของการเคารพความหลากหลายและการแก้ไขความแตกต่างตามแนวทางสันติ ภายใต้วัฒนธรรมที่พลเมืองทุกคนเคารพมุมมองของกันและกัน และการเคารพในหลักนิติธรรม โดยปาฐกถาครั้งนี้เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศอื่น ๆ

2. นาย Tony Blair ได้เล่าว่าจากประสบการณ์ในการสร้างความปรองดองและสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือและในตะวันออกกลาง พบว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้หากมีปัจจัยดังนี้ 1) ความรู้สึกว่ามีโอกาสร่วมกัน (sense of shared opportunity) มีมากกว่าความรู้สึกคับข้องใจ (sense of grievance) 2) การยอมรับว่าอดีตสามารถตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาได้ แต่ไม่สามารถประเมินให้ทุกฝ่ายพอใจได้ ทุกฝ่ายยังจะคงมีความเชี่อฝังใจของตัวเองเกี่ยวกับอดีต สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับอนาคต 3) หากไม่สามารถขจัดความรู้สึกอยุติธรรมได้ ต้องมีการวางกรอบสำหรับอนาคตที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นธรรมและเป็นกลาง สามารถเข้าถึงเหตุรากฐาน (root causes) ของปัญหาได้ 4) กรอบดังกล่าวจะต้องยึดหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงทั้งในเนื้อหาและรูปแบบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการเลือกตั้งแต่ยังรวมถึงเป็นวิธีคิดเกี่ยวกับการสัมพันธ์ระหว่างเสียงส่วนน้อยและเสียงส่วนใหญ่เพื่อให้มีพื้นที่ที่สามารถร่วมมือกันได้ การคิดเกี่ยวกับสังคมเชิงพหุนิยม และการใช้หลักนิติธรรม และ 5) การปรองดองจะง่ายขึ้นหากระบบการเมืองถูกมองว่าสามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างได้ผล ทั้งนี้ แม้ว่าบางครั้งความพยายามในการปรองดองจะดูเหมือนไม่มีความหวัง แต่อาจเกิดผลสำเร็จได้อย่างไม่คาดคิด ดังที่เคยปรากฏมาแล้วในกรณีของไอร์แลนด์เหนือ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องพยายามอย่างต่อเนื่อง

3. นาย Martti Ahtisaari เล่าถึงกระบวนการปรองดองในประเทศนามิเบีย อินโดนีเซีย และโคโซโว ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจและความตั้งใจจริงจากทุกฝ่าย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาและต้องอาศัยความตั้งใจจริงจากทั้งผู้นำประชาคมระหว่างประเทศและผู้นำการเมืองภายใน การพูดคุยและลงนามข้อตกลงยังไม่เพียงพอแต่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงด้วย โดยทุกฝ่ายต้องมีความพร้อมที่จะประนีประนอม ผู้นำต้องมีความจริงใจในการหาทางออก และประชาชนเข้าใจบทบาทความรับผิดชอบทางการเมืองของตนในการยุติปัญหาและสร้างสันติภาพ

4. นางสาว Priscilla Hayner มีความเห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าการปรองดองสามารถเป็นไปได้ในหลายแนวทาง ทั้งด้านบวกและด้านลบ ในทางบวก กระบวนการจะต้องเริ่มจากความจริงใจ ไม่ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และที่สำคัญต้องไม่เร่งรีบ โดยสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ โดยไม่ต้องระบุจุดเป้าหมาย แต่ให้กระบวนการดำเนินต่อไป ความผิดพลาดที่มักจะทำให้การปรองดองไม่สำเร็จรวมถึงการเรียกร้องให้ลืมอดีต การบังคับให้ร่วมการปรองดอง และการปฏิเสธหรือพยายามลบล้างความแตกต่างซึ่งเป็นเหตุของความแตกแยก ในส่วนที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม นางสาว Priscilla ย้ำว่าไม่ควรเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ควรเคารพผู้ที่รับผลกระทบ และควรเป็นกระบวนการที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกัน การสืบค้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ควรดำเนินต่อไป การปรองดองจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้นำได้รับการสนับสนุนจากประชาชน การแก้ไขปัญหาต้องยอมรับถึงเหตุการณ์ในอดีต ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงอนาคตร่วมกัน และมีพื้นที่ทางการเมืองสำหรับทุกฝ่าย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

media-center-20130902-165335-113012.wma