งานมอบเงินช่วยเหลือแรงงานลาวเสียชีวิตในไทย

งานมอบเงินช่วยเหลือแรงงานลาวเสียชีวิตในไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 เม.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,285 view
     ด้วยเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2557 แรงงานจังหวัดมุกดาหาร ได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวแรงงานลาวที่เสียชีวิตในประเทศไทย จำนวน 2 ราย โดยมี กสญ. และแผนกแรงงานและสวัสดิการสังคมแขวงสะหวันนะเขตร่วมเป็นพยาน รายละเอียดดังต่อไปนี้
 
1. กรณีนางสาวอาลิยา โพทิสาน 
  1.1 เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2554 นางสาวอาลิยาฯ  ประชาชนลาว ซึ่งทำงานกับนายสุวรรณ คำโพธิ์ นายจ้างไทยที่ร้านหมิวอบนวด จ.มุกดาหาร ได้เสียชีวิต ซึ่งรายงานการชันสูตรศพของโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จ. อุบลราชธานีระบุว่ามีสาเหตุจากการจมน้ำ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2557 แผนกแรงงานและสวัสดิการสังคมมีหนังสือถึงแรงงานจังหวัดมุกดาหารขอให้ตรวจสอบสาเหตุการตายของนางสาวอลิสาฯ และขอให้พิจารณาความสมเหตุสมผลของการที่นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพียง 5,000 บาท
    1.2  แรงงานจังหวักมุกดาหารได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า โดยที่นางสาวอาลิยาฯ เป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ชั่วคราว ตามมติครม. พ.ศ. 2554 จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้ และเสียชีวิตจากการจมน้ำซึ่งมิใช่เกิดจากการทำงาน นางสาวอาลิยาฯ จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคม อย่างไรก็ตาม แรงงานจังหวัดมุกดาหารได้ประสานประสานกับนายสุวรรณฯ และได้รับแจ้งว่า นายสุวรรณฯ ได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวนางสาวอาลิยาฯ แล้วสองครั้ง จำนวนรวม 35,000 บาท และยินดีมอบเงินเพิ่มเติมให้แก่ครอบครัวนางอาลิยาฯ ผ่านแรงงานจังหวัดฯ อีก 10,000 บาท ซึ่งได้นำมามอบให้กับแผนกแรงงานและสวัสดิการและสังคมแขวงสะหวันนะเขตในครั้งนี้ 
 
2. กรณีนายมาลอย พมมะจัน 
   2.1 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2557 นายมาลอยฯ สัญชาติลาว ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัท ไฟว์เพาเวอร์ อินดัสตรี จำกัด จ. สมุทรสาคร ได้เสียชีวิตที่บ้านพักพนักงานด้วยสาเหตุระบบไหลเวียนล้มเหลวเฉียบพลันโดยไม่พบพยาธิสภาพ ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2557 แผนกแรงงานและสวัสดิการสังคมมีหนังสือถึงแรงงานจังหวัดมุกดาหารขอให้ช่วยเหลือกรณีดังกล่าว
    2.2 แรงงานจังหวักมุกดาหารได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่าเป็นแรงงานนำเข้าตาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานไทย-ลาว และนายจ้างได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2556  ทั้งนี้ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายจากกองทุนประกันสังคม กล่าวคือ หากเสียชีวิตอันมิใช่เนื่องจากการทำงานจะได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท และเงินสงเคราะห์ตามเงื่อนไขที่กำนหดจากกองทุนฯ แต่หากเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง จะได้รับค่าทำศพ 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน และค่าทดแทนรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดิน มีกำหนด 8 ปี จากกองทุนเงินทดแทน สำหรับกรณีนี้ กองทุนฯ จ่ายเงินค่าทำศพจำนวน 40,000 บาทให้กับนายจ้าง และนายจ้างฯ ยินดีมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ครอบครัวนายมาลอยฯ ผ่านแรงงานจังหวัดฯ ซึ่งได้นำมามอบให้กับแผนกแรงงานและสวัสดิการและสังคมแขวงสะหวันนะเขตในครั้งนี้
 
3. สกญ. ขอเรียนเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้ 
    3.1 การมอบเงินดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำเงินข่วยเหลือแรงงานลาวที่เสียชีวิตในประเทศไทยมามอบให้กับครอบครัวของแรงงานในสปป.ลาว ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดีและใกล้ชิดระหว่างจังหวัดกับแขวง รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและความตั้งใจอันดีของฝ่ายไทยที่มีต่อฝ่ายลาว
    3.2 กรณีทั้งสองเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบที่ดีสำหรับการเดินทางเข้าไปใช้แรงงานในประเทศไทย เนื่องจากแรงงานลาวที่เดินทางเข้าถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ MOU แรงงานไทย-ลาว จะได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยกฎหมายไทย ซึ่งควรได้รับการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม 
   3.3 แม้ว่านางสาวอาลิยาฯ จะไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง แต่การที่แรงงานจังหวัดมุกดาหารได้ประสานหาทางให้ความช่วยเหลือจนสามารถมอบเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของหน่วยราชการไทยในการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 
    3.4 แขวงสะหวันนะเขตให้ความสำคัญต่อการมอบความช่วยเหลือในครั้งนี้ของฝ่ายไทยโดยได้รายงานในหนังสือพิมพ์สะหวันพัดทะนา ฉบับที่ 762 วันที่ 8 – 10 เม.ย. 2557 ซึ่งระบุว่าเป็นการดำเนินความร่วมมือตามบันทึกการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างแขวงสะหวันนะเขตและจังหวัดมุกดาหาร เมื่อ 19 – 20 สิงหาคม 2556 ที่จังหวัดมุกดาหารอีกด้วย
    3.5 ในการประชุมความร่วมมือด้านแรงงานดังกล่าว ที่ประชุมสรุปว่า จังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขตประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในภาคการเกษตรในฤดูเก็บเกี่ยว จึงเห็นชอบสนับสนุนแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในลักษณะเข้า-ออกในวันเดียวกันและเสนอใช้เอกสารผ่านแดนชั่วคราว โดยขยายเวลาพำนักจากเดิม  3 วัน เป็น 7 วัน และให้จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ