ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับสูงของ ECOSOC และกล่าวถ้อยแถลง (Country Statement) ในการอภิปรายทั่วไป รวมทั้งเป็นผู้นำการอภิปรายในการประชุม ECOSOC วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ นครนิวยอร์ก

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับสูงของ ECOSOC และกล่าวถ้อยแถลง (Country Statement) ในการอภิปรายทั่วไป รวมทั้งเป็นผู้นำการอภิปรายในการประชุม ECOSOC วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 2,590 view

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับสูงของ ECOSOC และกล่าวถ้อยแถลง (Country Statement) ในการอภิปรายทั่วไป รวมทั้งเป็นผู้นำการอภิปรายในการประชุม ECOSOC วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ นครนิวยอร์ก

******************

            เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมพิธีเปิดงานการประชุมระดับสูงของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และได้ปฏิบัติภารกิจ ในการกล่าวถ้อยแถลง (Country Statement) ในการอภิปรายทั่วไป รวมทั้งเป็นผู้นำในการอภิปราย (Lead Discussant) ในช่วงการประชุม ECOSOC สรุปดังนี้

              1. การอภิปรายทั่วไปในช่วงการประชุมระดับสูง (General Debate) ปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย (Country Statement) โดยเน้นถึงความสำคัญของช่วงเวลาในการจัดการประชุมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาน้อยกว่า ๑๗ เดือน ก่อนถึงกำหนดการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) และการเห็นพ้องร่วมกันในการกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ (post-2015 development agenda) ตลอดจนการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวเน้นย้ำว่า ประเทศไทยยึดมั่นต่อประเด็นการพัฒนา โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และจะนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานโดยความสมัครใจ (National Voluntary Presentation - NVP) ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เพื่อแบ่งปันข้อมูลแนวทางในการดำเนินงานสู่ความสำเร็จ และสิ่งท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษให้ประเทศต่างๆ ได้รับทราบ

               ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายโดยการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกและการลดช่องว่างในการพัฒนา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประเทศไทยได้น้อมนำหลักการดังกล่าวให้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศยังได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของประชาคมโลกเพื่อการบรรลุเป้าหมายในการลดความยากจนซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน หลักธรรมาภิบาล การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงฯ ยังเห็นว่าการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ต้อมพัฒนาไปพร้อมกัน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนี้ยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาได้เพียงข้ามคืน จึงเห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องเร่งดำเนินความพยายามร่วมกันอีกมากมายและใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเริ่มต้นดำเนินการในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ.๒๐๑๕ ด้วยความเชื่อมั่น

              2. การอภิปรายในการสนทนาระดับรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ “Weaving regional realities and regional priority into the post 2015 development agenda” ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้รับเชิญจากประธาน ECOSOC ให้เข้าร่วมในฐานะผู้นำการอภิปราย (lead discussant) โดยได้หารือร่วมกับผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศชาดและประเทศคอสตาริกา รวมทั้งผู้แทนพิเศษขององค์กรภายใต้สหประชาชาติด้านต่างๆ ในประเด็นความเหมือนและความแตกต่างระหว่างการจัดลำดับความสำคัญของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ในการกำหนดวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.๒๐๑๕ ซึ่งรวมถึงการกำหนดความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละภูมิภาค และผลกระทบต่อนโยบายและแนวโน้มในการดำเนินการในภูมิภาคต่างๆ ด้วย

              3. การชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย

                   ปลัดกระทรวงฯ ได้ใช้โอกาสในการประชุม ECOSOC นี้ ในการชี้แจงสถานการณ์การเมืองของไทยว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็งและมีความยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนา ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงยึดมั่นต่อประชาธิปไตย พันธกรณีระหว่างประเทศ และการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในกรอบสหประชาชาติภายใต้เสาหลัก ๓ เสา ได้แก่ สันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา โดยประเทศไทยปรารถนาจะเห็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนของไทยมีความเข้าใจสนับสนุน และร่วมปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทยในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ประเทศไทยได้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป

***************************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ