วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ส.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม ณ กรุงเนปิดอว์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. การประชุมอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่น: ที่ประชุมแสดงความชื่นชมต่อแถลงการณ์วิสัยทัศน์ที่ผู้นำได้รับรองในการประชุมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์เมื่อธันวาคมปี๒๕๕๖ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้ให้เงินสนับสนุนกองทุนการรวมตัวอาเซียน – ญี่ปุ่นจำนวน ๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งเรื่องที่ญี่ปุ่นได้ให้สัญญาจะให้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการกับอาเซียนอีก ๕ ปีข้างหน้าเป็นเงินจำนวน ๒ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลดช่องว่างระหว่างการพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการเป็นประชาคมอาเซียน ในส่วนของประเทศไทย ให้ความสำคัญเรื่อง ๑) การดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดและการอำนวยความสะดวกที่ด่านบริเวณชายแดน และการพัฒนาเขตการค้าเศรษฐกิจพิเศษ ๒) การเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจขนาดกลางและเล็กในอาเซียน รวมทั้งพัฒนาประเทศในกรอบความร่วมมือแม่โขง ๓) การส่งเสริมการมีแลกเปลี่ยนระดับประชาชน และ ๔) การร่วมมือกันต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่
๒. การประชุมอาเซียนกับประเทศอินเดีย: ที่ประชุมได้แสดงความยินดีที่จะมีการลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าบริการและด้านการลงทุนภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ณ เนปิดอว์ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับอินเดีย อาทิ การดำเนินโครงการสร้างทางหลวงสามฝ่ายระหว่างอินเดีย เมียนมาร์ และประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งการสร้างเส้นทางเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย และการกลับมาเจรจาความตกลงเกี่ยวกับคมนามคมทางอากาศอาเซียน – อินเดีย
๓. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม: ที่ประชุมได้หารือสาขาความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ การเงินและความมั่นคงทางอาหาร ในส่วนของประเทศไทย เห็นว่า การสร้างความเชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรมเป็นเรื่องสำคัญ และยินดีต่อข้อเสนอของประเทศจีนในการจัดตั้งธนาคารลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย โดยจะร่วมเป็นประเทศผู้ก่อตั้ง ด้านการเงิน ประเทศไทยแสดงความยินดีที่มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี ด้านความมั่นคงทางอาหาร ที่ประชุมเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน และอุทกภัยในประเทศลาวสะท้อนความสำคัญของอค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสามอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ประเทศไทยเห็นว่า อาเซียนกับประเทศบวกสามจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับภัยด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ
๔. การประชุมระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ: ที่ประชุมได้หารือทิศทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ในส่วนของประเทศไทยได้แสดงความยินดีที่สหรัฐฯ สนับสนุนอาเซียนในการเป็นแกนกลางในภูมิภาค และความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ ไทยเห็นว่า อาเซียนสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ภายใต้กรอบการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้ยย้ำเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนและสหรัฐฯ มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น และยินดีกับข้อริเริ่มผู้นำเยาวชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปี ๒๕๕๖ และโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาสำหรับอาเซียนภายใต้ทุนฟุลไบรท์ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นความพยายามที่ดีในการนำประชาชนทั้งอาเซียนและสหรัฐฯ ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียนได้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในวันเดียวกัน ได้แก่ สหภาพยุโรป และแคนาดา และนายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ได้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลีและรัสเซีย ที่ประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาได้หารือกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสรีภาพ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาค
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **