การประชุม UN Climate Summit 2014

การประชุม UN Climate Summit 2014

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,234 view

เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม    สุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Summit 2014) ที่ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก โดยในการประชุมดังกล่าว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมโดยเน้นถึงความสำคัญของความร่วมมือในการแก้ใขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เร่งด่วน  และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศต้องมีเจตนารมณ์และพันธกรณีทางการเมืองที่จะบรรลุข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ต่อจากพิธีสารเกียวโต ในปี ๒๕๕๘

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงทรรศนะของประเทศไทยว่า การแก้ใขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนา
เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยยกแบบอย่างในการพัฒนาของประเทศไทยที่ได้น้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ
ซึ่งเป็นแบบอย่างการพัฒนาที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ แต่ละประเทศจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันและดำเนินการภายในประเทศตนเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยในส่วนของประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปพลังงานเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล และดำเนินการตามแผนในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ ๒๕ จากปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๑ และไทยยังมีแผนระยะยาวในการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้พลังงานลงถึงร้อยละ ๒๕ จากระดับปัจจุบันภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ในด้านการเพิ่มการกักเก็บก๊าซคาร์บอน ประเทศไทยกำลังดำเนินการแก้ใขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและป่าเสื่อมโทรมอย่างเร่งด่วน โดยในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และฟื้นฟูสภาพป่าทั่วประเทศ

การประชุมสุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้นำระดับสูงสุดประกาศเจตนารมณ์ทางการเมือง ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและประกาศการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยผู้เข้าร่วมประชุมเกือบทั้งหมดเป็นประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล ราว ๑๓๐ ประเทศ รวมทั้งบุคคลสำคัญจากวงการต่างๆ เข้าร่วม อาทิ  สุลต่านแห่งบรูไนฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสเปน เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่ง โมนาโค  สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งโมร็อกโก เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร  รองนายกรัฐมนตรีจีน  อดีตประธานาธิบดีอัลกอร์ของสหรัฐฯ นายลีโอนาโด ดิ คาปรีโอ นักแสดงและผู้นำสารสันติภาพของสหประชาชาติ และ น.ส.ลี บิงบิง นักแสดงและทูตสันถวไมตรีของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เป็นต้น

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ