นายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

นายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ธ.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,685 view

เมื่อวันที่ ๑๐ – ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีผู้นำทุกประเทศของอาเซียนและประธานาธิบดีเกาหลีใต้เข้าร่วม การประชุมครั้งนี้เป็นกิจกรรมสำคัญของการฉลองครบรอบ ๒๕ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน – เกาหลีใต้ โดยจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาซึ่งความสุข (Building Trust, Bringing Happiness)” สาระสำคัญมีดังนี้

๑) การประชุม ASEAN – ROK CEO Summit
การประชุม ASEAN – ROK CEO Summit มีนักธุรกิจระดับผู้บริหารจากภาคส่วนต่าง ๆ ของเกาหลีใต้และอาเซียนเข้าร่วม โดยนายกรัฐมนตรีได้รับเกียรติเป็นผู้บรรยายพิเศษและได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและบทบาทของเอเชีย พร้อมกับเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและการส่งเสริมการลงทุนกับต่างประเทศ  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้ในสาขาที่มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ สาขาธุรกิจที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงานทดแทน และการเกษตร นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการกำจัดขยะและการสร้างพลังงานจากขยะเพื่อสร้างสรรค์ “เศรษฐกิจสีเขียว”

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญอันดับต้นกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลไทยและภาคเอกชนของเกาหลีใต้สามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนใน ๕ จังหวัดชายแดนเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การต่อยอดความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาคเอกชนของเกาหลีใต้ก็สามารถมีส่วนร่วมกับพลวัตการพัฒนาเหล่านี้ได้

๒) การประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ (ASEAN – ROK Commemorative Summit)
การประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ซึ่งมีผู้นำจาก ๑๐ ประเทศอาเซียนและประธานาธิบดีเกาหลีใต้เข้าร่วม ช่วงที่ ๑ “ทบทวนความร่วมมืออาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี และทิศทางในอนาคต (Review of ASEAN – ROK Relations and its Future Direction)”  นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยวิสัยทัศน์ในอนาคตของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – เกาหลีใต้ (Joint Statement on our Future Vision of ASEAN – ROK Strategic Partnership) เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ภายใต้หัวข้อ “สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาซึ่งความสุข (Building Trust, Bringing Happiness)” ต่อไปในอนาคต

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำศักยภาพของความร่วมมือระหว่างอาเซียน – เกาหลีใต้ และไทย – เกาหลีใต้ ว่า สามารถเป็นหุ้นส่วนเพื่อผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค โดยสาขาการพัฒนาที่มีความสำคัญอันดับต้นนั้น ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล และ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยังควรสนับสนุนให้สภาธุรกิจอาเซียน – เกาหลีใต้ และศูนย์อาเซียน – เกาหลี มีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณเกาหลีใต้ที่สนับสนุนอาเซียนในการเป็นแกนกลางเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ช่วงที่ ๒ "ความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Discussion on Non-Tradition Security Issues)"  นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลพวงของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และการขยายตัวของความเชื่อมโยงในภูมิภาค อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด โรคติดต่อร้ายแรงและโรคอุบัติใหม่ เช่น อีโบลา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการภัยพิบัติ

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือด้านป่าไม้ระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ และการจัดตั้งองค์การความร่วมมือป่าไม้แห่งเอเชีย ตลอดจนกล่าวสนับสนุนเกาหลีใต้ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมไฟป่าโลกครั้งที่ ๖ ในปี ๒๕๕๘

๓) การพบหารือทวิภาคี (เกาหลีใต้และบรูไน)
ในระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคกับนางสาวปัก กึน – ฮเย (Park Geun-Hye) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในหลายประเด็น อาทิ การค้าการลงทุน โดยฝ่ายเกาหลีใต้ ได้ขอให้ไทยพิจารณาภาคเอกชนของเกาหลีใต้ที่เสนอเข้าไปลงทุนในสาขาต่าง ๆ ในประเทศไทย ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ขอให้เกาหลีใต้ดูแลการนำเข้าสินค้าไทย เช่น ผลไม้และไก่สดแช่แข็ง ที่ยังติดอุปสรรคต่าง ๆ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ควรใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมาธิการร่วม (JC) มาเร่งขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายให้เห็นผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยังได้เข้าเฝ้าสุลต่าน Haji Hassanal Bolkiah สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีทรงถวายพระพรมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณบรูไนที่เข้าใจสถานการณ์เมืองไทยและสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความชื่นชมในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ในโอกาสนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีได้เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการ และทรงรับคำเชิญเสด็จเยือนประเทศไทยเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน สินค้าเกษตร และพลังงาน

๔) การพบหารือกับคณะนักธุรกิจเกาหลีใต้
นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับภาคเอกชนของเกาหลีใต้ โดยมีตัวแทนนักธุรกิจจากบริษัทต่าง ๆ เข้าร่วม อาทิ บริษัท K-water บริษัท Lotte Group บริษัท Hyundai Motor บริษัท Sumsung Electro-Mechanics บริษัท The Shilla Duty Free บริษัท POSCO เป็นต้น นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลที่จะดูแลนักลงทุนต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน และพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากเกาหลีใต้ในสาขาที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้านกลุ่มนักธุรกิจเกาหลีใต้ต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญของการค้าการลงทุนกับไทย และแสดงความประสงค์ที่จะเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนกับไทยในอนาคต

(ภาพจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ