ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ นายสุรศักดิ์ เจือสุคนธ์ทิพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก พร้อมด้วยนายไพสิฐ บุญปาลิต อัครราชทูตที่ปรึกษา นายกฤษฎา ธาราสุข ผู้ช่วยทูตฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงวอชิงตัน นางกุลปราโมทย์ วรรณะเลิศ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลอสแอนเจอลิส นางกฤษณา สุขุมพานิชกงสุล (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจอลิส และ น.ส. ฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครลอสแอนเจอลิส ได้เดินทางเยือนรัฐ Queretaro อย่างเป็นทางการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับรัฐ Queretaro ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะโอกาสทางการค้าการลงทุน และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาอุตสาหกรรมที่ทั้งประเทศไทยและรัฐ Queretaro ให้ความสำคัญ อาทิ ยานยนต์ อากาศยาน เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในระหว่างการเยือน เอกอัครราชทูตฯ และคณะฯ ได้พบหารือกับนาย Juan Carlos ItuarteZarza ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ฝ่ายการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งประชุมร่วมกับผู้แทนระดับสูงของสมาคมธุรกิจและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของรัฐ Queretaro และหารือกับประธานสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและประธานสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมโรงงานของบริษัท INDORAMA ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่รายแรกของไทยในเม็กซิโก และเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยอากาศยานของรัฐ Queretaro หรือ Universidad Aeronáutica de Querétaro ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในรัฐ Querétaro ก่อนเดินทางกลับ เอกอัครราชทูตฯ และคณะฯ ได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัย Tecnológico de Monterrey มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของเม็กซิโกที่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ในระหว่างการหารือกับผู้แทนต่าง ๆ ของรัฐ Queretaro เอกอัครราชทูตฯ และทีมประเทศไทยเล็งเห็นโอกาสการค้าและการลงทุนสำหรับไทยในสาขายานยนต์ เนื่องจากเม็กซิโกยังนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยจำนวนมาก รวมทั้งในสาขาอาหาร เพราะเม็กซิโกมีวัตถุดิบการเกษตรมากและมีตลาดใหญ่ ประกอบกับจุดเด่นของรัฐ Queretaro ในฐานะรัฐที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในประเทศและเป็นรัฐที่มีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตสูง ทำให้มีบริษัทต่างชาติซึ่งรวมถึงบริษัทจากเอเชียนิยมเข้ามาลงทุนในรัฐนี้ นอกจากนี้ ประเทศไทยและรัฐ Queretaro ยังมีโอกาสดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขายานยนต์ อากาศยาน และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ โดยที่ทั้งไทยและเม็กซิโกตั้งอยู่ในเขตร้อน จึงน่าจะมีความสนใจใกล้เคียงกันในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ