รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมการประชุม High-Level Global Conference on Road Safety ครั้งที่ ๒ ณ กรุงบราซิเลีย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมการประชุม High-Level Global Conference on Road Safety ครั้งที่ ๒ ณ กรุงบราซิเลีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 896 view
            ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนายพิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล เอกอัครราชทูตไทยประจำบราซิล ข้าราชการกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการอิสระ ผู้แทนจากศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมด้านความปลอดภัย เข้าร่วมการประชุม High-Level Global Conference on Road Safety ครั้งที่ ๒ ณ กรุงบราซิเลีย ซึ่งจัดโดยรัฐบาลบราซิลและสหประชาชาติ 
 
            ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยบนท้องถนน โดยมีบุคคลสำคัญ ต่าง ๆ ร่วมกล่าวเปิดงาน อาทิ นาง Dilma Rousseff ประธานาธิบดีบราซิล ดร. Margaret Chan ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และการร่วมอภิปรายของผู้นำระดับรัฐมนตรีต่าง ๆ รวมทั้งผู้แทนประเทศต่าง ๆ มากกว่า ๒,๕๐๐ คนจาก ๑๒๐ ประเทศทั่วโลก 
 
            ระหว่างการประชุมฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้เป็นแขกรับเชิญพิเศษเข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ (Motorcycle Safety) และการมุ่งสู่เป้าหมายการลดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ตลอดจนหารือกับนาย Christian Friis Bach เลขาธิการผู้บริหาร UNECE (Executive Secretary of United Nations Economic Commission for Europe) เพื่อส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยและความปลอดภัยบนท้องถนน  
 
ภายหลังการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้ประกาศปฏิญญาบราซิเลีย (Brasilia Decoration on Road Safety) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 
            (๑) การสร้างความตระหนักว่า อุบัติภัยทางถนนส่งผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน ความปลอดภัยทางถนนจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 
            (๒) ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมและความเท่าเทียมทางเพศในบริบทของความปลอดภัยทางถนน และความร่วมมือระหว่างประเทศ บทบาทของสหประชาชาติที่สนับสนุนรัฐสมาชิกในการปฏิบัติตามตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน 
            (๓) ข้อเสนอแนะในการยกระดับความปลอดภัยทางถนน ประกอบด้วย ๕ เสาหลัก ได้แก่ ๑) การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน ๒) ถนนและการสัญจรที่ปลอดภัยมากขึ้น ๓) ยานพาหนะที่ปลอดภัยมากขึ้น ๔) คนใช้ถนนที่ปลอดภัยมากขึ้น และ ๕) การรับมือหลังเกิดอุบัติเหตุ  

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ