เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๙ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้านำคณะกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีนายวราวุธ ภู่อภิญญา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ นายบรรจง อมรชีวิน ผอ. ส่วนวางแผนและติดตามผลการให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ และเจ้าหน้ากรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย ณ จังหวัดน่าน โดยได้ศึกษาดูงาน สถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
๑. การศึกษาดูงาน ณ บ้านศรีนาป่าน (ตำบลเรือง อำเภอเมือง ) (Community Forest) โดยมีกำนันเปล่ง มะโนวรณ์ ผู้นำชุมชนศรีนาป่าน พร้อมด้วยคณะ ให้การต้อนรับ ซึ่งเป็นชุมชนปลูกและผลิตชาอัสสัม หรือใบเมี่ยง โดยมีกลไกสำคัญของหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาของชุมชนในด้านการจัดการป่าและชุมชนที่สามารถอยู่ร่วมกันในลักษณะพึ่งพากันได้อย่างยั่งยืน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จเยือนพื้นที่ดังกล่าว และได้ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของชาวบ้านโดยการนำผลิตภัณฑ์ไปประชาสัมพันธ์ที่ประเทศเยอรมนีด้วย
พื้นที่แห่งนี้มีจุดเด่น คือ การดูแลรักษาป่า และต้นน้ำ เพื่อการเกษตรและดำรงชีวิต ตลอดจนใช้ประโยชน์จากป่า เช่น ต้นเมี่ยงต้องอาศัยป่าที่สมบูรณ์ถึงจะได้ผลผลิตที่ดี ทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่า จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติในป่า เพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำ และส่งเสริมอาชีพการผลิตและจำหน่ายชา
ที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน อาทิ การส่งผลิตภัณฑ์ของชุมชนจำหน่ายที่ร้านภูฟ้า
๒. การศึกษาดูงาน ณ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลสวก อำเภอมือง (Women Entrepreneurs) โดยมีแม่บัวลอย อุเทธิ ผู้นำกลุ่มสตรีทอผ้า พร้อมด้วยคณะ ให้การต้อนรับ ซึ่งเป็นกลุ่มสตรีในท้องถิ่นที่ได้ใช้เวลาว่างจากการทำนารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทอผ้า เพื่อไว้ใช้เอง และไม่จำเป็นต้องไปซื้อมาที่อื่น โดยใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากท้องถิ่น ต่อมา ได้มีการพัฒนาทำให้มีรูปแบบต่าง ๆ ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก
จุดเด่น คือ การทอผ้าโบราณ ส่งเสริมรายได้แก่ผู้สูงอายุ และกลุ่มแม่บ้าน และรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ลดการละทิ้งถิ่นฐาน เพื่อไปหางานต่างท้องถิ่น ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งและถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนผ่านโครงการเยาวชนรักบ้านเกิด
๓. การศึกษาดูงาน ณ ชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง (Medium Community Enterprise) โดยมีนายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน คุณศิรินันท์ สารมณฐี ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน พร้อมด้วยคณะ ให้การต้อนรับ ชุมชนนี้ให้ความสำคัญในเรื่องการร่วมกันแก้ไขปัญหาในชุมชน (การตัดไม้ เล่นการพนัน และยาเสพติด) ลดรายจ่ายในครัวเรือน และเพิ่มรายได้ของชุมชน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน โดยใช้สมุนไพรท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน และลดการใช้สารเคมี ปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จนสามารถทำรายได้สู่ชุมชนและเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วประเทศไทย
อาทิ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน ภายใต้ แบรนด์ “ชีววิถี” เนื่องจากสินค้าทุกประเภทมีการใช้สมุนไพร
ในปริมาณมาก และใช้สารเคมีน้อยที่สุด
จุดเด่นคือ เป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็งที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน การคิดร่วมกัน ระดมทุนภายในชุมชนเอง โดยมีคติว่าทุกคนเป็นพระเอกร่วมกัน ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล มีการจัดการบริหารชุมชน ทำให้มีรายได้ มีงานทำในบ้านเกิด สามารถคงวิถีชีวิตดั้งเดิม และรักษาสภาพแวดล้อมธรรมชาติได้
๔. การศึกษาดูงานการทำเกษตรผสมผสาน (Integrated farming with fish and poultry at Individual farming level) ของคุณชูศักดิ์ หาดพรม เกษตรกร อำเภอภูเพียง ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่ของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงในการทำเกษตรแบบลดต้นทุนการผลิต