วันที่นำเข้าข้อมูล 14 เม.ย. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562
เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และภูมิภาคแอฟริกา รวม ๒๑ ประเทศ จำนวน ๒๘ คน ในโอกาสมาศึกษาดูงานภายใต้โครงการบัวแก้วสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๕๙ โดยมี นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัด กระทรวงการต่างประเทศ นายวิชิต ชิตวิมาน เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก นางจิตเกษม ตัณฑศิริ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ แขกผู้มีเกียรติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดการศึกษาดูงานโครงการดังกล่าวขึ้น ระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม - ๑ เมษายน ๒๕๕๙ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และการดำเนินงานของไทยในการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการปรับใช้ ผ่านการศึกษาดูงานในเรื่องที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีของไทย โดย จัดการศึกษาดูงานให้ตรงกับความสนใจของแต่ละกลุ่ม/ภูมิภาค ดังนี้
- กลุ่มประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ในหัวข้อ “A Study Visit on Sufficiency Economy and Its Application on Community-based Tourism and SMEs” ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในด้านการจัดการน้ำ การรักษาป่าต้นน้ำ และการเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร และเยี่ยมชมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ณ บ้านแม่กำปอง ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน โฮมสเตย์ รวมทั้งได้เยี่ยมชมศูนย์รวมสินค้า OTOP และหมู่บ้านหัตถกรรม บ้านถวาย เพื่อศึกษาระบบการพัฒนาสินค้าชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในท้องถิ่นและเพิ่มรายได้ให้ชุมชน จังหวัดเชียงใหม่
- กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในหัวข้อ “A Study Visit on Sufficiency Economy and Its Application on Community-based Development and Disaster Preparedness for Climate Change” ศึกษาดูงาน ณ ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง บ้านสารภี ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ศึกษาดูงานด้านการป้องกันภัยพิบัติ (Disaster Management) การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ณ บางขุนเทียน จังหวัดกรุงเทพฯ นอกจากนี้ คณะผู้แทนฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการป้องกันภัยพิบัติในภาคใต้ของไทยจากกรณีตัวอย่างพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิ ณ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จังหวัดพังงา และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวลักษณะ Commentary Based Tourism บ้านทุ่งหยีเป็ง จังหวัดกระบี่
- กลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ในหัวข้อ “A Study Visit on Sufficiency Economy and Its Application on Community-based SMEs and Vocational Training” ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ฟาร์มซองเดอร์ วิสาหกิจขนาดกลาง (ผลิตสินค้าแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มจากธัญพืชเกษตรอินทรีย์ ไร้สารพิษ) และบริษัทผลิตภัณฑ์สะเดาไทย จำกัด วิสาหกิจขนาดเล็ก (ผลิตสารสกัดจากเมล็ดสะเดา ใช้สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ) จังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งดูงานด้านอาชีวศึกษา ณ วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร และมูลนิธิพระดาบส ในกรุงเทพฯ
จากการศึกษาดูงานผู้แทนแต่ละประเทศให้ความสนใจสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างมาก และเห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดหนึ่งที่ดีมากสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศตนได้ บางประเทศประสงค์จะส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกอบรม/ดูงานด้านที่สนใจ เช่น การเพาะเห็ด การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การจัดการทรัพยากรน้ำ เกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปอาหาร เป็นต้น
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้จัดโครงการบัวแก้วสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี นับว่าเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ เปิดโอกาส ให้ผู้แทนต่างประเทศมาดูงาน/พบปะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ซึ่งประชาสัมพันธ์ศักยภาพของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย และเปิดโอกาสทำความรู้จักและสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์/ความร่วมมือระหว่างกันในระดับบุคคล/หน่วยงาน กิจกรรมนี้สามารถส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ต่อไปได้ในอนาคต รวมทั้งแสดงถึงบทบาทของไทยในเวทีต่างประเทศในการมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ด้วย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **