ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ นายนพพร อัจฉริยวนิช เอกอัคราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ และนายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Colombo Consultative Committee ครั้งที่ ๔๕ (45th CCM) ณ กรุงซูวา สาธารณรัฐฟิจิ โดยการประชุมมีผู้แทนประเทศสมาชิกแผนโคลัมโบเข้าร่วมการประชุม จำนวน ๒๐ ประเทศจากประเทศสมาชิกทั้งหมด ๒๗ ประเทศ และมีผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญหลายแห่งเข้าร่วมการประชุมด้วย การประชุมจัดขึ้นในธีม “Enabling Effective Community - based Adaptation to Climate Change” โดยการประชุมได้มีการหารือนโยบายและยุทธศาสตร์แผนงานของแผนโคลัมโบและแนวทางที่จะดำเนินงานในอนาคต
นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ กล่าวเปิดการประชุม โดยตระหนักถึงความสำคัญของแผนโคลัมโบที่สนับสนุนการพัฒนาของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Climate Change เป็นประเด็นร่วมที่ภูมิภาคจะต้องร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งฟิจิและหมู่เกาะแปซิฟิกอยู่ในภาวะเสี่ยงทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยรัฐบาลฟิจิสนับสนุนความร่วมมือ/ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ได้แก่ Kiribati และ Tuvalu ในการแก้ไขปัญหาหากเกิดภาวะวิกฤตขึ้น รวมทั้งฟิจิเน้นการพัฒนาด้านการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การศึกษา และการสร้างงานด้วย ซึ่งความร่วมมือในกรอบแผนโคลัมโบในการแบ่งปันประสบการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการวางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติเพื่ออนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน
เอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งที่ประชุมถึงแนวทางการพัฒนาของไทยที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy - SEP) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยประสบความสำเร็จ สามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤตและสามารถสร้างสังคม/ชุมชนที่เข้มแข็งได้ และไทยยินดีร่วมมือกับแผนโคลัมโบในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงที่เน้นการประยุกต์ SEP ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ ๑๗ ของ SDGs: Partnerships for the Goals
รองอธิบดีไพศาลฯ แจ้งการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในการร่วมมือกับแผนโคลัมโบ ระยะเวลา ๒ ปีข้างหน้า (ค.ศ. ๒๐๑๗ - ๒๐๑๘) ได้แก่ การจัดฝึกอบรมให้แก่ประเทศสมาชิกแผนโคลัมโบ จำนวน ๔ หลักสูตร ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ SEP ในการพัฒนา อาทิ การเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวโดยชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยดำเนินการทั้งในรูปความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี