ระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ นายดนัย เมนะโพธิ อุปทูต ณ กรุงริยาด พร้อมด้วยทีมประเทศไทย ณ กรุงริยาด ได้ให้การต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนายบัณฑิต หลิมสกุล เลขาธิการกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) และเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้เดินทางมาเยือนกรุงริยาดในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเชิญ มาหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนและให้ความร่วมมือของซาอุดีฯ ในฐานะสมาชิก ACD ต่อการดำเนินงานตาม ๕ เสาหลักความร่วมมือของ ACD (จากทั้งหมด ๖ เสาหลักความร่วมมือ) ที่ซาอุดีฯ ได้เสนอตัวที่จะเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อน (prime mover) และผู้ร่วมขับเคลื่อน (co-prime mover) ในคราวการเข้าร่วมประชุมผู้นำ ACD ครั้งที่ ๒ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ – ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
โดย ๕ เสาหลักความร่วมมือที่ซาอุดีฯ เข้าร่วม ประกอบด้วย (๑) ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Education and Human Resource Development) (๒) ด้านความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน (Interrelation of Food, Water and Energy Security) (๓) ด้านความเชื่อมโยงของมิติและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (Connectivity) (๔) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation) และ (๕) ด้านการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและอย่างยั่งยืน (Promoting Approaches to Inclusive and Sustainable Development)
ทั้งนี้ ซาอุดีฯ ได้เสนอตัวเป็น prime mover ในเสาหลักความร่วมมือที่ ๑ และเป็น co-prime mover ในเสาหลักความร่วมมือที่ ๒ – ๕ ส่วนเสาหลักความร่วมมือที่ซาอุดีฯ ไม่ได้เข้าร่วม คือ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (Culture and Tourism)
นอกจากจะได้พบหารือกับผู้แทนระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีฯ แล้ว เลขาธิการ ACD ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับเลขาธิการของ King Abdullaziz International Center for Interreligious and Intercultural Dialogue เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่าง ACD และศูนย์ฯ ดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ แนวคิด ACD ริเริ่มโดยประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๔๕ เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเอเชีย ตลอดจนความร่วมมือในวงกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกแล้ว รวมทั้งสิ้น ๓๔ ประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติมของ ACD สามารถดูได้ที่ http://www.acd-dialogue.org