การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย-ลาว เป็นแนวความคิดที่จะสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวข้ามแดนระหว่างไทย-ลาว ตลอดแนว ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่แนวชายแดนทั้งสองประเทศ โดยแนวความคิดดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่มิให้ปัญหาเรื่องเขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเนื่องจากจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีแนวเขตแดนติดต่อระหว่าง ๓ ประเทศ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม ไทยและลาวจึงได้เห็นพ้องร่วมกัน ในระหว่างการตรวจสภาพภูมิประเทศร่วมกันของคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว (SOM) เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๘ ที่จะพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย-ลาว ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาร่วมกันในบริเวณอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า มีศักยภาพที่สามารถสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
นับตั้งแต่การจัดทำหลักเขตแดนบริเวณภูชี้ฟ้า เมื่อปี ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบัน ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่บริเวณภูชี้ฟ้า ได้ถูกยกเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย-ลาว ในบริเวณอื่น ๆ อาทิ พื้นที่บริเวณแก่งผาไดและผาตั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต่างก็มีเอกลักษณ์ในด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวข้ามแดนร่วมกันระหว่างไทยและลาวได้ ด้วยเหตุนี้ ในการศึกษาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จึงได้ร่วมกันจัดการประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดนระหว่าง สปป.ลาว กับประเทศไทย และการสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวข้ามแดนในพื้นที่แก่งผาไดและพื้นที่เชื่อมโยง ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหัวหน้าแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เป็นประธานร่วม และมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทยเข้าร่วมด้วย
การประชุมและการสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยได้แสดงถึงความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว ในระดับพื้นที่ที่จะร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม และยังเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ของทั้งสองประเทศได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ของตน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงประชาชนทั้งสองฝั่งโขงให้ร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นของตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป