กรณีคนไทยถูกจับกุมและควบคุมตัวที่รัฐยะโฮร์ และรัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย

กรณีคนไทยถูกจับกุมและควบคุมตัวที่รัฐยะโฮร์ และรัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.พ. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,938 view
          ตามที่ปรากฏข่าวว่ามีกลุ่มคนไทยถูกทางการมาเลเซียจับกุมและควบคุมตัวที่รัฐยะโฮร์ และรัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย นั้น
          กระทรวงการต่างประเทศขอเรียน ดังนี้
          ๑. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ รับทราบเกี่ยวกับทั้งสองกรณีและได้เข้าเยี่ยมกลุ่มคนไทยตั้งแต่ต้น รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการมาเลเซียแล้ว
          ๒. กรณีหญิงไทย ๒๑ ราย จากพื้นที่ภาคใต้ ถูกทางการมาเลเซียควบคุมตัว
               สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ทราบว่าหญิงไทยทั้ง ๒๑ ราย เดินทางไปทำงานขายข้าวเกรียบที่เมืองยะโฮร์บาห์รู โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าช่วยเหลือและนำตัวไปยังบ้านพักฉุกเฉินสตรีรัฐยะโฮร์เพื่อกันตัวไว้สอบสวนและเป็นพยานในชั้นศาล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้สันนิษฐานว่ากรณีดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้จับกุมชายไทย ๒ ราย ซึ่งคาดว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในโอกาสเดียวกันด้วย ล่าสุด ศาลมาเลเซียได้ปล่อยตัวหญิงไทย ๑๒ ราย ให้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ และได้นัดพิจารณาคดีหญิงไทยที่เหลืออีก ๙ ราย ในวันที่ ๒๗ – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โดยในชั้นนี้ ทางการมาเลเซียอาจพิจารณาปล่อยตัวหญิงไทยกลุ่มดังกล่าวประมาณต้นเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ ทั้งนี้ ในส่วนของชายไทย ๒ ราย ที่ได้นำพาหญิงไทยทั้ง ๒๑ ราย มาขายข้าวเกรียบ อัยการมาเลเซียได้สั่งฟ้องในความผิดมาตรา ๑๒ และ ๑๓ ของกฎหมายการค้ามนุษย์มาเลเซีย (exploitation and profiting from exploitation) โดยจะดำเนินการตามกระบวนการในชั้นศาลที่เกี่ยวข้องต่อไป
          ๓. กรณีคนไทยถูกจับที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย
               สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของรัฐมะละกา พบว่ากลุ่มคนไทยที่ถูกจับกุมมีจำนวน ๕๐ คน โดยคนไทยกลุ่มดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่ไปออกร้านขายอาหารในงาน Thai Food Festival ที่รัฐมะละกา โดยเดินทางเข้าไปมาเลเซียในฐานะนักท่องเที่ยว แต่เมื่อไปทำงาน จึงถือเป็นความผิดตามข้อ 39 (b) ของระเบียบ Immigration Regulations 1963 (L.N. 228/63) ซึ่งมีโทษสูงสุดคือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐.- ริงกิต หรือ จำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ล่าสุด ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองรัฐมะละกาได้สอบสวนผู้ถูกจับกุมและส่งเรื่องให้อัยการรัฐมะละกาพิจารณาสั่งฟ้องศาลแล้วจำนวน ๓๔ ราย คาดว่าศาลจะพิจารณาคดีประมาณวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ส่วนอีก ๑๖ ราย ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน 
          ๔. ในทั้งสองกรณี กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการมาเลเซียอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือและดูแลผลประโยชน์ของกลุ่มคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากดังกล่าว