ไทยยื่นภาคยานุวัติสารเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงการทำการประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement: SIOFA)

ไทยยื่นภาคยานุวัติสารเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงการทำการประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement: SIOFA)

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 เม.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,312 view
เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๐ นายสมพงษ์ นิ่มเชื้อ อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พร้อมด้วยนายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ได้เข้าพบนาย Antonio Tavares ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ FAO เพื่อยื่นภาคยานุวัติสารเพื่อให้ไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงการทำการประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement: SIOFA) ซึ่งเป็นความตกลงจัดตั้งองค์การระดับภูมิภาคด้านการจัดการทรัพยากรประมงในพันธุ์สัตว์น้ำตระกูลอื่นที่ไม่ใช่ปลาทูน่า และขจัดการทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย โดยจะมีผลการเข้าเป็นภาคี
ภายใน ๓๐ วัน
 
การเข้าเป็นภาคี SIOFA จะทำให้ไทยมีสิทธิเข้าไปทำการประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้มาตรการควบคุมและการอนุรักษ์ของ SIOFA และสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงในเขตมหาสมุทรอินเดียให้เป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ไทยได้เข้าเป็นภาคีคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission : IOTC) ซึ่งเป็นองค์การระดับภูมิภาคด้านการจัดการทรัพยากรประมงในพันธุ์สัตว์น้ำตระกูลทูน่า การที่ไทยเป็นสมาชิกทั้ง IOTC และ SIOFA จะทำให้การทำประมงนอกน่านน้ำของกองเรือประมงไทยในเขตมหาสมุทรอินเดียเป็นไปตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ไทยก็ได้ปรับปรุงระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงของเรือประมงนอกน่านน้ำให้เป็นไปอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นความพยายามที่จะยกระดับการประมงนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากลและขจัดการประมงผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไปจากอุตสาหกรรมประมงของไทย