การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “การประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (Post Disaster Needs Assessment: PDNA) ของประเทศไทย”

การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “การประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (Post Disaster Needs Assessment: PDNA) ของประเทศไทย”

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มิ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,579 view

           เมื่อวันที่ ๒๒ – ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team: UNCT)  ธนาคารโลก และสหภาพยุโรป จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการจัดทำการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย (Post – Disaster Needs Assessment: PDNA) ที่กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนวิธี (methodology) ในการจัดทำการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย รวมทั้งเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศต่าง ๆ ในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ โดยคำนึงว่าการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยเป็นแนวปฏิบัติสากลที่ได้รับการพัฒนาและใช้ร่วมกันโดยหน่วยงานด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ (UN Development Group – UNDG) ธนาคารโลก และสหภาพยุโรป

             การประชุมฯ ดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมหารือกับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team: UNCT) และผู้ประสานงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทย (Disaster Risk Reduction Focal Points – DRR Focal Points) เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย (Post – Disaster Needs Assessment: PDNA) อันเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ ที่กำหนดให้ใช้การประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยเป็นฐานในการจัดทำกรอบแผนการฟื้นฟูหลังเกิดภัยที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อนำไปสู่การสร้างใหม่ที่ดีกว่าเดิมและปลอดภัยกว่าเดิม (Build Back Better) ภายใต้กรอบเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๓๐

         การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ผู้ประสานงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทย (Disaster Risk Reduction Focal Points – DRR Focal Points) และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๐๐ คน โดยมีวิทยากรจากองค์การระหว่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป ธนาคารโลก และหน่วยงานด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ร่วมบรรยายทฤษฎีและกระบวนวิธีในการจัดทำการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย โดยเน้นสาขาเป้าหมายในการประเมินความต้องการฯ ๔ สาขา ได้แก่ (๑) ภาคสังคม อาทิ สาธารณสุข ที่พักอาศัย การศึกษา (๒) ภาคการผลิต อาทิ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม (๓) ภาคโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การคมนาคมขนส่ง และ (๔) ประเด็นคาบเกี่ยว อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม เพศสภาพ ธรรมภิบาล และชีวิตความเป็นอยู่  นอกจากนี้ ในการประชุมฯ ได้มีการแบ่งกลุ่มเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ระหว่างกัน โดยได้นำสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๐ มาเป็นตัวอย่างบทเรียนและข้อมูลประกอบด้วย

          การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานไทยในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างใหม่ที่ดีกว่าเดิมและปลอดภัยกว่าเดิม (Build Back Better) ภายใต้กรอบเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๓๐ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานไทย ในการนำหลักการและองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยมาใช้ปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันและเตรียมการมิให้เกิดภัยพิบัติซ้ำซ้อนในอนาคต