การเข้าร่วมการประชุมระหว่างคณะมนตรีระดับรัฐมนตรีของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) กับประเทศผู้สังเกตการณ์ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ เมืองกาลี สาธารณรัฐโคลอมเบีย และการมอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากรัฐบาลไทยแก่รัฐบาลโคลอมเบียกรณีอุทกภัยและดินถล่ม

การเข้าร่วมการประชุมระหว่างคณะมนตรีระดับรัฐมนตรีของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) กับประเทศผู้สังเกตการณ์ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ เมืองกาลี สาธารณรัฐโคลอมเบีย และการมอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากรัฐบาลไทยแก่รัฐบาลโคลอมเบียกรณีอุทกภัยและดินถล่ม

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มิ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,919 view
          นายเรืองเดช มหาศรานนท์ เอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐโคลอมเบีย ถิ่นพำนัก ณ กรุงลิมา ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระหว่างคณะมนตรีระดับรัฐมนตรีของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกกับประเทศผู้สังเกตการณ์ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ เมืองกาลี (Cali) สาธารณรัฐโคลอมเบีย
          การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกกับประเทศผู้สังเกตการณ์ใน ๔ สาขาหลัก ได้แก่ (๑) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (๒) การศึกษา (๓) SMEs และ (๔) การอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่อง SMEs และการอำนวยความสะดวกทางการค้า
          ทั้งนี้ ในโอกาสเยือนโคลอมเบียเพื่อเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐโคลอมเบีย มีกำหนดจะเข้าเยี่ยมคารวะนางพัตตี้ โลโดโญ่ ฆารามิโย่ ตำแหน่ง Vice Minister of Foreign Affairs ของโคลอมเบีย (เทียบเท่าปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่กรุงโบโกตา เพื่อมอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากรัฐบาลไทยแก่รัฐบาลโคลอมเบียกรณีอุทกภัยและดินถล่ม เมื่อปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐.- ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมอบสารแสดงความเสียใจจากนายกรัฐมนตรี ถึงนายฆวน มานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโคลอมเบีย
          อนึ่ง ไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก ตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดยกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ประกอบด้วยสมาชิก ๔ ประเทศ ได้แก่ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู และมีประเทศผู้สังเกตการณ์ ๔๙ ประเทศ โดยเป็นสมาชิกอาเซียน ๓ ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ปัจจุบันกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกถือว่าเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีการบูรณาการที่รวดเร็วและมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด