รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๖ และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๒๐

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๖ และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๒๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,460 view
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๑๖ (16th ASEAN Political-Security Community Council – APSC) และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียนครี้งที่ ๒๐ (20th ASEAN Coordinating Council – ACC) ที่กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 
 
ที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนได้มีการหารือพัฒนาการล่าสุดของการดำเนินงานขององค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาและกลไกประชุมต่าง ๆ ภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (APSC Blueprint 2025) ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ ๘๐ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในด้านกลาโหม ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านยาเสพติด และการต่อต้านการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ (๑) การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน (๒) การดูแลความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกอาเซียน ซึ่งนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และ (๓) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาคมอาเซียนโดยเน้นความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนและการต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ในอาเซียน โดยสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในรัฐยะไข่และการป้องกันการแพร่ขยายของลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้าย รวมถึงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกันในอาเซียนด้วย
 
ที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียนได้หารือเรื่องการเตรียมการการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๑ และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และรับทราบรายงานต่าง ๆ ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมฯ อาทิ รายงานของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับงานของอาเซียน รายงานของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับหน้าที่และการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน รายงานของคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน รายงานของประธานคณะทำงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน และรายงานของคณะกรรมการประสานงานอาเซียนว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียนวาระถัดไป ในการนี้ ไทยได้กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการนำเสนอร่างรายงาน Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development: A Framework for Action ซึ่งเน้นความร่วมมือที่ไทย สำนักเลขาธิการอาเซียน และ UNESCAP ยกร่างร่วมกัน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน – สหประชาชาติ ครั้งที่ ๙ ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ รับทราบ และในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรป ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการหารือความร่วมมือในเรื่องนี้ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป
 
อนึ่ง การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียนเป็นกลไกสำคัญในกรอบอาเซียน โดยจัดขึ้นเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ระดับผู้นำ) และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหารือถึงประเด็นคั่งค้างสำคัญซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจากับอาเซียนและประเทศที่มีความสำคัญต่อประเทศสมาชิก ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๑ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ