สรุปคำกล่าวในงานสัมมนา “Thailand: Advancing ASEAN – Japan Investment Partnership” โดย รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)

สรุปคำกล่าวในงานสัมมนา “Thailand: Advancing ASEAN – Japan Investment Partnership” โดย รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.พ. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,382 view
สรุปคำกล่าวในงานสัมมนา
“Thailand: Advancing ASEAN – Japan Investment Partnership”
โดย รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒
ณ จังหวัดโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
 
****************
 
ท่าน จุน อะระอิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดโอซากา 
ท่านรัฐมนตรี
คณะผู้แทนจังหวัดโอซากา
คณะผู้แทนหน่วยงานเมืองโอซากา
และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
 
           ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนจังหวัดโอซากาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการเยือนในครั้งนี้เป็นการเยือนจังหวัดท้องถิ่นของญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ ๓ ของผมในห้วง ๑ ปีเต็มในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกิจการด้านเศรษฐกิจไทย เนื่องจากผมตระหนักดีว่าความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่เมืองหลวง แต่ความสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่นได้ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ผมได้เดินทางเยือนจังหวัดฟูกูโอกะ เพื่อผลักดันและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางการทูตและการระหว่างประเทศ ซึ่งไทยได้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ ผมได้เยือนจังหวัดมิเอะและเมืองนาโกย่า ในจังหวัดไอจิ ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น หรือ HLJC ครั้งที่ ๔ เพื่อแสวงหาลู่ทางในการค้า การลงทุนระหว่างกัน ซึ่งได้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยหลังจากนั้น เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิได้นำคณะนักธุรกิจมาเยือนไทย และต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะได้นำคณะธุรกิจเยือนไทยและได้เปิดศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ - ไทย ซึ่งเน้นด้านการแปรรูปอาหารขึ้นที่สถาบันอาหารของไทย ถือเป็นศูนย์นวัตกรรมของท้องถิ่นญี่ปุ่นแห่งแรกที่เกิดขึ้นในไทย
 
           สำหรับการเยือนในครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนี่ง เนื่องจากจังหวัดโอซากาเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคคันไซ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในลำดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ G20 ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ นี้ และจะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรม World Expo 2025 นอกจากนี้ คันไซยังมีอุตสาหกรรม ที่สอดคล้องอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยมากมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และอื่น ๆ ผมจึงมีความตั้งใจที่จะมาพบปะกับผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดโอซากา วากายามะ และเกียวโตในครั้งนี้
 
           การเยือนครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและ “ความมั่นใจ” แก่เพื่อน ๆ นักลงทุนทุกภาคส่วน ในช่วงที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายมิติ รวมถึงรายงานความคืบหน้าในส่วนการดำเนินการที่ผ่านมา เเละทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นโดยช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๒ นี้ โดยผมขอกล่าวถึงใน ๔ ประการสำคัญ ดังนี้
 
           ประการที่ ๑ ได้แก่ พัฒนาการในระดับประเทศ ผมขอเรียนให้ทราบว่า ในห้วง ๕ เดือน ข้างหน้านี้ นับเป็นช่วงที่สำคัญ โดยประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างน้อย ๓ ประการ ดังนี้

                 ๑.ชาวไทยกำลังเตรียมตัวด้วยความยินดีอย่างยิ่งสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ ๔ - ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ พระราชพิธีนี้นับว่าเป็นวาระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย เป็นที่ภาคภูมิใจและชื่นชมยินดีของปวงชนชาวไทย  
                 ๒.  คณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยได้มีมติกำหนดให้วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ เป็นวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรไทย ซึ่งการประกาศวันเลือกตั้งของไทยนับว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการพัฒนาในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเมือง นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้วางรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าในระดับประเทศ เช่น การวางยุทธศาสตร์ระยะยาว การพัฒนา EEC ที่ได้มีการออกกฎหมายรับรองไว้อย่างครบถ้วนแล้ว ในระดับภูมิภาคนั้น รัฐบาลได้วางรากฐานผ่านข้อริเริ่มในทุกกรอบ เช่น ACMECS GMS รวมถึงแม่โขง - ญี่ปุ่น (Mekong - Japan) ซึ่งผมเองมีความยินดีอย่างยิ่งในโอกาสที่ปี ๒๕๖๒ นี้ เป็นปีที่มีความสำคัญมากในเชิงสัญลักษณ์ เพราะเป็นปีแห่ง Mekong - Japan Exchange Year 2019 นอกจากนี้ ในระดับโลก ไทยก็ได้มีบทบาทที่แข็งขันในการสนับสนุนยุทธศาสตร์  Free and Open Indo - Pacific Strategy (FAOIP) ของญี่ปุ่น โดยไทยได้มีแผนงานร่วมมือกับญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความเชื่อมโยงเพื่อให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
                 ๓.  การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการของไทยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และผมเชื่อว่า การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “Advancing Partnership for Sustainability” จะช่วยส่งเสริมบทบาทอันสร้างสรรค์ของไทยและอาเซียนให้เป็นที่ประจักษ์ชัดในเวทีโลก โดยนอกเหนือจากการประชุมผู้นำและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของอาเซียน ซึ่งได้จัดกันมาเป็นธรรมเนียมแล้ว ในปีนี้ ไทยจะมีการจัดประชุม ASEAN Business Investment Summit ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ไม่เฉพาะแต่ของไทย แต่รวมถึงภูมิภาคอาเซียนและเอเชียโดยรวมอีกด้วย
 
           ประการที่ ๒ ได้แก่ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของไทยในระดับภูมิภาคและของโลก
 
           ภูมิภาคเอเชียในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน เเละเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก รวมถึงทำหน้าที่เป็นเสาหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจโลกท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนที่เราต่างกำลังเผชิญกันอยู่ ภูมิภาคอาเซียนไม่เพียงแต่มีจำนวนประชากรเกินกว่า ๕๐๐ ถึง ๖๐๐ ล้านคน แต่ยังเป็น Supply Chain และ Value Chain ที่สำคัญที่สุดของเอเชีย และเป็นดินแดน ซึ่งในขณะนี้ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์กลางของ ASEAN คือ ประเทศ CLMVT หรือกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่งในขณะนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง แต่ CLMVT นั้นยังมีอัตราการเติบโตสูงอย่างยิ่ง ปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖ – ๗  มาโดยตลอด ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ CLMVT ที่สามารถเป็นศูนย์กลางในการลงทุนในภูมิภาคเเละกระจายไปสู่ประเทศข้างเคียง เนื่องจากข้อได้เปรียบทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการคมนาคมที่เชื่อมต่อกับประเทศในภูมิภาค ทำให้การส่งออกไปประเทศข้างเคียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการลงทุนในรูปแบบเลือกประเทศหนึ่งเป็นศูนย์กลางนั้น มีแนวโน้มที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างจีนเเละญี่ปุ่น จะเลือกมากกว่าการลงทุนเเบบเดิม คือ direct investment คือการลงทุนโดยตรงในรายประเทศ  
 
           จีนกำลังประกาศนโยบาย One Belt One Road หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ด้วยเส้นทางรถไฟจากคุนหมิงผ่านลาวและประเทศไทย และตั้งใจว่าจะทะลุไปสู่ทางด้านของทะเลจีน ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นและอินเดียกำลังประกาศสนับสนุนนโยบาย Indo - Pacific เชื่อมโยงตะวันออกและตะวันตก โดยที่ประเทศไทยเป็นจุดกึ่งกลางของทั้งเหนือ - ใต้ และตะวันออก - ตะวันตก ฉะนั้น การที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นประธานอาเซียน ย่อมเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะสามารถร่วมกับมิตรประเทศของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นมหามิตรของอาเซียนมานานมากแล้ว 
 
           เราไม่ได้เพียงมองแค่การเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ แต่เรายังมองไปยังการเป็นประธาน APEC และ  BIMSTEC ในปีต่อ ๆ ไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยพยายามให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นและมิตรประเทศของเรา ผลักดันให้  RCEP ซึ่งเป็นเขตเสรีการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา สามารถบรรลุผลการเจรจาภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่เราเป็นเจ้าภาพอาเซียน ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ตั้งใจจะเข้าสมัครเป็นสมาชิกของ CPTPP อย่างแน่นอน อาเซียนนั้นกำลังเติบโต และไทยกำลังจะมีบทบาทที่สำคัญ เพราะฉะนั้น หากท่านใช้โอกาสอันนี้ให้เป็นประโยชน์ ก็ขอให้ท่านพิจารณาไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนสำหรับฝ่ายญี่ปุ่นด้วย
 
           ประการที่ ๓  ได้แก่ การดำเนินการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลไทยในระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นรากฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมั่น และการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน จึงได้ริเริ่มแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยโครงการที่จะสามารถเติบโตได้อย่างดีในบริบทของโลกที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายประเทศไทย ๔.๐ การผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่ Digital Economy ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีการผลักดันให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก และกำลังดำเนินไปข้างหน้าอย่างราบรื่น ในขณะเดียวกัน เราได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ ซึ่งสอดคล้องกับจุดแข็งที่ญี่ปุ่นมี เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เครื่องมือแพทย์ ดิจิทัล อาหารแห่งอนาคต เป็นต้น ประเทศไทยได้วางโครงการ EEC หรือการขยายตัวจากพื้นที่แหลมฉบังเดิมที่ท่านรู้จักดีอยู่แล้ว EEC ขณะนี้กำลังดำเนินไปด้วยดี โครงการต่าง ๆ กำลังอยู่ในช่วงของการประมูลและการเร่งสรุปผล ได้แก่ สนามบิน และรถไฟความเร็วสูง สิ่งเหล่านี้กำลังดำเนินไปข้างหน้าอย่างราบรื่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ยิ่งใหญ่ในพื้นที่ EEC นั้น ทำให้ในปัจจุบัน EEC สามารถดึงดูดโครงการลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมูลค่าเงินลงทุนในพื้นที่ EEC ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี ๒๕๖๑ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓๐ ที่ระดับ ๒.๒๖ ล้านล้านเยน (หรือ ๖.๘ แสนล้านบาท) เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๐ ที่มีมูลค่าลงทุนเพียง ๙.๖ แสนล้านเยน (หรือ ๒.๙ แสนล้านบาท) เท่านั้น ผมขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณนักลงทุนทุก ๆ ท่าน รวมทั้ง JETRO และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดก็คือประมาณกลางปี ๒๕๖๑ คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนกว่า ๕๐๐ คนไปเยือนที่ EEC ที่จังหวัดระยองและชลบุรี ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งที่สำคัญของโครงการนี้ ได้มีการลงนามความตกลงร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยในเรื่องการเชื่อมโยง ในช่วงปลายปี ๒๕๖๑ ผู้นำจีนเเละญี่ปุ่นได้มีการประชุมร่วมกันที่กรุงปักกิ่ง โดยผู้นำทั้งสองท่านได้ระบุประเทศไทยและโครงการ EEC ว่า เป็นโครงการเป้าหมายของความร่วมมือจีน – ญี่ปุ่นในระดับต้น ที่ต้องการเห็นผลสำเร็จ และต้องขอบคุณทาง JETRO ที่เป็นผู้มีบทบาทนำในการจัด workshop สำคัญ เพื่อแสวงหาโอกาส ร่วมกันระหว่างจีน ญี่ปุ่น และไทย โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสามฝ่าย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เเละประเทศเจ้าภาพ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ จึงขอเชิญนักลงทุนจากโอซากาด้วย
 
             ประการสุดท้าย  ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเนื่องด้วยเศรษฐกิจโลกนั้นมีความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนทั่วไปมีความหวาดหวั่น ไม่มั่นใจ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจปี ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นคาดว่าจะเติบโตร้อยละ ๔ รายงาน World Bank อาจมองว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดี และมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น Ease of Doing Business ของไทยอยู่ในระดับที่ ๒๗  จาก World Economic Forum แต่ในรายงานล่าสุดของ World Bank ที่ประเทศไทยได้รับการรายงานว่า เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นอย่างยิ่ง มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศ กับเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยต่างประเทศ ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา เราได้ประกาศว่าต้องการสร้าง Local Economy Industry ภายในของเราให้แข็งแรง ได้แก่ เกษตรกรรม การค้าขาย การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวนั้น ตัวเลขล่าสุดมีนักท่องเที่ยวเยือนไทยมากกว่า ๔๐ ล้านคนต่อปี และมีมูลค่าต่อ GDP สูงเกือบร้อยละ ๒๐ จำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าว ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นของไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น ฝ่ายไทยจะไม่เพียงสนับสนุนให้มีการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ EEC อย่างเดียว แต่ยังต้องการให้ผลักดันไปสู่ชนบทและท้องถิ่น อุตสาหกรรมใดที่สามารถไปลงทุนในเขตท้องถิ่น สามารถสร้างอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้แก่ท้องถิ่นได้ สามารถส่งเสริมการศึกษา สาธารณสุข สุขอนามัย หรือการให้ความรู้กับภูมิภาคของไทย รัฐบาลไทยจะให้สิทธิเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนในรายงานของ World Bank ว่า ประเทศไทย มีฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และยืดหยุ่นพอที่จะรองรับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของเศรษฐกิจต่างประเทศ ที่ซบเซาในปี ๒๕๖๑ รวมทั้งสามารถรองรับเศรษฐกิจที่ซบเซาในปี ๒๕๖๒ และ ๒๕๖๓ ด้วย
 
              ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ คือ สิ่งที่ดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ประเทศไทยที่เศรษฐกิจยังไม่หวั่นไหวกับผลกระทบกระทั่งจากเศรษฐกิจโลก เป็นศูนย์กลางสำคัญของ CLMVT และเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ รวมถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และโครงการใหญ่ ๆ ที่กำลังดำเนินงาน อาทิ นโยบาย ๔.๐  โครงการ EEC เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจาก EEC ภาคตะวันออกมายังกรุงเทพฯ และไปสู่ภาคใต้ นอกจากนั้น เราจะมีรถไฟรางคู่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดระนอง ออกไปทางทะเลอันดามัน เพื่อให้ในอนาคตสินค้าที่เราผลิตขึ้นมาได้สามารถส่งออกไปได้ทั้งตะวันออกและตะวันตก ถือว่าเป็นการเปิดทางทะเลทั้งสองฟาก ทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ดังนั้น ความต่อเนื่องทางการเมืองและนโยบาย  การมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการเป็นประธานอาเซียนย่อมยืนยันถึงความมั่นคงของประเทศไทย ผมจึงขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนให้พิจารณาจุดแข็งของประเทศไทยว่ามีอะไรที่ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นจะเเสวงหาโอกาสร่วมกันได้ ฝ่ายไทยมี BOI และสถานกงสุลใหญ่ของไทย ซึ่งมีสำนักงานที่นครโอซากา ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นสามารถขอรับการบริการและการปรึกษาหารือได้ ขอให้มั่นใจประเทศไทย รอการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และหากประเทศไทยปฏิรูปสำเร็จ ก็จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และจะเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นภายใต้ความไม่แน่นอนของโลกในขณะนี้