สรุปข้อมูลเศรษฐกิจจากคำกล่าว/ ปาฐกถาของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยและนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล (กันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๑)

สรุปข้อมูลเศรษฐกิจจากคำกล่าว/ ปาฐกถาของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยและนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล (กันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๑)

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มี.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,239 view

สรุปข้อมูลเศรษฐกิจจากคำกล่าว/ ปาฐกถาของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยและนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

 (กันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๑)

****************

 

พิธีเปิดงาน Thailand MICE Forum 2018 ณ ศูนย์การประชุม Bangkok Convention Centre (๑๑ กันยายน ๒๕๖๑)

ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผลักดันอุตสาหกรรม MICE ของไทยด้วยการดำเนินงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังนี้

๑) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากการเติบโตของ (GDP) และดัชนีเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญ การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มการกระจายรายได้ โดยการช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องราคาสินค้าเกษตร

๒) ที่ตั้งยุทธศาสตร์ของไทย เอเชียกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางและไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน ไทยจึงมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และควรใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ โดยรัฐบาลมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงกับเส้นทาง BRI ของจีนและ Greater Bay Area (ฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลกวางตุ้ง) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจของจีน อันจะนำไปสู่การเชื่อมโยง supply chain ของสินค้า และบริการในภูมิภาค รวมทั้งผลักดันในการเจรจา RCEP และการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ และอาเซียนในยุทธศาสตร์  Indo – Pacific นอกจากนี้ อาเซียนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ ๔ – ๕ ต่อปี โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่เติบโตสูงถึงร้อยละ ๖ – ๘ ต่อปี กอปรกับดัชนีทางเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็งของไทย และการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพื่อส่งออกไปยังอาเซียน โดยจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และ EU ได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นแล้ว

๓) นโยบายการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ รัฐบาลดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ โครงการ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของภูมิภาค และการพัฒนาอุตสาหกรรม S - Curve ที่จะส่งผลให้เกิดการกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมโยง EEC กับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เพื่อเชื่อมเส้นทางขนส่งระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้งมีแผนยกระดับอุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบิน และภาคการขนส่งของไทยด้วย

๔) บทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ ไทยมีจุดแข็งจากการมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ และการเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ ในการส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระดับต่าง ๆ กอปรกับการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์การเมืองของไทย  
 

*****************
 

ปาฐกถาพิเศษ "Thailand 2019" ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก (๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑)

๑) ปี ค.ศ. ๒๐๑๙ นับเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังมุ่งสู่เอเชีย โดยมีจีนและญี่ปุ่นเป็นผู้นำ ไทยจึงควรเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศ ผ่านการยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย – จีน (JC) ไปสู่ความร่วมมือระดับกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐและขยายความร่วมมือสู่ระดับมณฑล และพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยม ลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan Pearl River Delta – PPRD) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจปักกิ่ง – เทียนจิน – เหอเป่ย (Beijing – Tianjin – Hebei Economic Zone) ซึ่งไทยมีบทบาทนำในการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในกรอบความร่วมมือ ACMECS ร่วมกับกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) กับจีนและกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (MJ) รวมถึงความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างแนวเส้นทาง BRI และ SEC

๒) ไทยควรใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ Indo – Pacific และ CPTPP และผลักดันการดำเนินการเจรจาความตกลง RCEP ให้แล้วเสร็จ โดย RCEP เป็นความตกลงที่ครอบคลุม GDP เกือบครึ่งหนึ่งของโลก

๓) การจัดงาน China International Import Expo (CIIE) ของจีน แสดงให้เห็นถึงความต้องการเปิดประเทศมากขึ้นของจีนและการเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค นอกจากนี้ จีนยังได้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) ในไทยเป็นแห่งที่ ๓ ในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันฮ่องกงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ร่วมกับเส้นทางรถไฟตามยุทธศาสตร์ BRI และเขตเศรษฐกิจ Pan Pearl River Delta เป็นสำคัญ ซึ่งไทยสามารถใช้จุดแข็งในการเป็นศูนย์กลาง ACMECS การมีความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ และการเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ เพื่อยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจและบทบาทของไทยในเวทีโลก

๔) ไทยยังควรเร่งพัฒนาความร่วมมือกับ METI ของญี่ปุ่น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ และใช้โอกาสจากความร่วมมือระหว่างจีนและญี่ปุ่นในการลงทุนในกลุ่มประเทศที่สาม ซึ่งมี EEC เป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญ

๕) ในปี ๒๕๖๒ รัฐบาลเตรียมออกสิทธิประโยชน์พิเศษในการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ BOI เพื่อดึงดูดการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งดำเนินโครงการ เช่น การออก Visa on Arrival (VOA) เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว และโครงการการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจและภาครัฐ
 

*****************
 

ปาฐกถาพิเศษในงาน “Dinner Talk Thailand Economic Outlook 2019 : อนาคตเศรษฐกิจไทย” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ (๓ ธันวาคม ๒๕๖๑)
 

๑) เศรษฐกิจไทยในไตรมาส ๔ ของปี ๒๕๖๑ คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตร้อยละ ๓.๓ และทั้งปีขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔ ทั้งนี้ ร้อยละ ๖๐ – ๗๐ ของ GDP เป็นผลมาจากการส่งออกเป็นหลัก ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผันผวนตามการปรับขึ้นลงของราคาสินค้าในตลาดโลก ดังนั้น การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องดำเนินการ ดังนี้ (๑) สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรเพื่อรับมือกับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรโลกที่ต่ำลง (๒) เปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และ Startups (๓) สร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานสู่เมืองรองซึ่งจะนำไปสู่การกระจายการท่องเที่ยวสู่จังหวัดต่าง ๆ ผ่านโครงการ อาทิ เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (Thailand Riviera) (๔) ส่งเสริมการค้าสินค้าชุมชนผ่านแพลตฟอร์ม E – Commerce โดยนำรูปแบบ Taobao Model ของบริษัท Alibaba มาประยุกต์ใช้ และ (๕) พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC

๒) ในปี ๒๕๖๒ รัฐบาลเตรียมดำเนินการ ดังนี้ (๑) ผลักดันโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง มูลค่ากว่า ๒ ล้านล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ โครงการรถไฟรางคู่ ๘ เส้นทาง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC การเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โครงการเน็ตประชารัฐ และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในประเทศให้สมบูรณ์ (๒) ยกระดับบทบาทของไทยจากความได้เปรียบด้านที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงภูมิภาค ผ่านกรอบความร่วมมือทวิภาคี เช่น JC ไทย – จีน และไทย – ญี่ปุ่น ซึ่งไทยสามารถอาศัยศักยภาพการเป็นจุดเชื่อมโยงร่วมกับเขตเศรษฐกิจ Pan Pearl River Delta ผ่านเส้นทางรถไฟจากจีนตอนใต้มายัง สปป. ลาวและไทย และกรอบความร่วมมือพหุภาคี  เช่น ACMECS เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
 

*****************