การสัมมนา “ประสบการณ์ของต่างประเทศในการนำนโยบายการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมไปสู่การปฏิบัติ” เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒

การสัมมนา “ประสบการณ์ของต่างประเทศในการนำนโยบายการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมไปสู่การปฏิบัติ” เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 730 view
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการสัมมนา “ประสบการณ์ของต่างประเทศในการนำนโยบายการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมไปสู่การปฏิบัติ” ที่โรงแรมเดอะสุโกศล เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้มีโอกาสศึกษาองค์ความรู้ในเชิงเปรียบเทียบบทเรียนและประสบการณ์ของต่างประเทศที่มีการนำนโยบายการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมไปปฏิบัติและได้รับเสียงสะท้อนทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับแนวทางและวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานนโยบายและผู้ปฏิบัติของไทยสามารถเข้าใจมิติที่ละเอียดอ่อนของประเด็นนี้ และนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น
 
ในการสัมมนาภาคเช้า มีผู้เชี่ยวชาญ ๓ ท่านบรรยายสรุปบทเรียนจากนโยบายส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมและประสบการณ์ของต่างประเทศ ได้แก่ (๑) ดร. ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ “พัฒนาการของแนวคิดและปฏิบัติการสังคมพหุวัฒนธรรม: จากบริบทภายนอกสู่สังคมไทย” ที่กล่าวถึงพัฒนาการของแนวคิดสังคมพหุวัฒนธรรมในทางมานุษยวิทยา และปฏิบัติการสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (๒) ผศ. ดร. ปณิธี บราวน์ คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “พหุวัฒนธรรม: นโยบายและแนวปฏิบัติในสังคมตะวันตก” ซึ่งได้เปรียบเทียบประสบการณ์ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ และตอบคำถามว่านโยบายสังคมพหุวัฒนธรรมยังไม่ได้ล้มเหลว และ (๓) ผศ. ดร. มรกต ไมยเออร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “สังคมพหุลักษณ์และพหุวัฒนธรรมนิยมในอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก” ซึ่งได้ศึกษาการบริหารสังคมพหุวัฒนธรรมแบบสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งนี้ บทเรียนสำคัญจากต่างประเทศที่วิทยากรได้สะท้อนร่วมกันคือ ความเข้าใจบริบทของสังคม ความสำคัญของการสร้างพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมเรียนรู้ และการทำความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม
 
ในช่วงบ่าย มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ (๑) นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (๒) นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ (๓) ดร. ยุทธนา เกื้อกูล วิทยาลัยอิสลามศึกษมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองที่ได้จากการเติบโต ใช้ชีวิต และการทำงานในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่าการนำนโยบายส่งเสริมสังคมวัฒนธรรมไปปฏิบัติในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติควรคำนึงถึงการปรับใช้นโยบายอย่างอ่อนตัว ให้สอดคล้องกับความแตกต่างของบริบทในแต่ละท้องถิ่นชุมชนย่อย ซึ่งแม้แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เองมีทั้งพื้นที่ที่มีชุมชนที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอยู่ดั้งเดิม ชุมชนที่เป็นสังคมเชิงเดี่ยว และแม้กระทั่งภายในชุมชนที่เป็นสังคมเชิงเดี่ยวก็ยังมีความแตกต่างของวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละกลุ่มคน รวมไปถึงการสร้างพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแนวทางการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ