นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council)

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council)

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 6,681 view
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ เอเปค ซึ่งนิวซีแลนด์จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกล
 
ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับฟังรายงานและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประจำปี ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อ “ประชาชน สถานที่ และความเจริญรุ่งเรือง” เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์โควิด-๑๙ และขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเอเปค โดยเรียกร้องให้เอเปคเร่งดำเนินการ (๑) ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียม ขยายการผลิตวัคซีน อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายวัคซีนและเวชภัณฑ์ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของ MSMEs สตรี และกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อน (๒) กำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม การปฏิรูปโครงสร้างที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม การค้าและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการเจริญเติบโตสีเขียว และ (๓) ยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการผลักดันการเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัย สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และเดินหน้าไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องว่า หุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เอเปคก้าวไปสู่ภูมิภาคที่เปิดกว้าง สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม
 
นายกรัฐมนตรีได้ร่วมหารือและตอบคำถามเกี่ยวกับเครื่องมือที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเอเปคไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยย้ำความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทย และความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน โดยภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยของเสียและมลพิษโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อน ขณะที่ภาครัฐมีส่วนสนับสนุนด้านกฎระเบียบ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าการลงทุน