ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๑ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุลในเอเปค

ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๑ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุลในเอเปค

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,103 view

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ๒๕๖๕ ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญหน้าและปรับตัวกับสถานการณ์โควิด-๑๙ โอกาสและภารกิจเร่งด่วนที่ไทยมองเห็น คือ การรวมตัวทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความท้าทายใหม่ ๆ จากบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง การเร่งฟื้นคืนความเชื่อมโยงในภูมิภาคซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการทำให้เศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙ เติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และสมดุล ซึ่งสามหัวข้อนี้คือประเด็นสำคัญที่ไทยเริ่มผลักดันภายใต้หัวข้อหลักการประชุม คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๔-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ปิดฉากลงวันนี้ โดยมีนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคปี ๒๕๖๕ ทำหน้าที่ประธานการประชุม และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศทำหน้าที่เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคไทย ภายใต้การประชุมระดับต่าง ๆ รวม ๒๙ การประชุม ที่ประชุมได้เริ่มขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็นเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในปีนี้ คือ

(๑) การทบทวนการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) โดยทุกเขตเศรษฐกิจมีความเห็นสอดคล้องกันว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่เอเปคจะร่วมกันทบทวนและวางแนวทางว่า FTAAP จะช่วยให้เอเปครับมือกับความท้าทายและใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่ รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนอย่างไร ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคจะสานต่อการหารือ โดยตั้งเป้าผลลัพธ์เป็นการประกาศข้อเสนอแนะเชิงนโยบายร่วมระหว่างเอเปคและผู้นำภาคธุรกิจเอเปคจากที่ประชุมหารือร่วมภาครัฐ-ภาคเอกชนระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปค และถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งการประชุมจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ ๑๒ (MC12) ในเดือนมิถุนายน

(๒) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยที่นำเสนอขึ้นโดยสมาชิกเอเปครวมถึงไทย ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ควรมุ่งดำเนินงานสองระยะ ในระยะสั้น ให้เร่งนำข้อริเริ่มที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางมาริเริ่มโดยเร็วที่สุด เช่น การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางข้ามแดนเอเปค และระบบตรวจสอบใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันระหว่างเขตเศรษฐกิจที่พร้อมและมีความสนใจ เพื่อทำให้การตรวจเอกสารด้านสุขภาพเพื่อประกอบการเดินทางในยุคโควิด-๑๙ ในเอเปคสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยตั้งเป้าเริ่มดำเนินงานภายในช่วงกลางปี สำหรับระยะยาว วางแผนสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคที่จะช่วยรับมือความท้าทายใหม่ ๆ อย่างยั่งยืน เช่น การขยายขอบเขตบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการนอกเหนือจากนักธุรกิจระดับสูงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการภายในปลายปี ทั้งนี้ เอเปคจะสานต่อการหารือไปตลอดทั้งปีและเร่งดำเนินงานให้เกิดผลลัพธ์โดยเร็วที่สุด

(๓) การส่งเสริมการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ที่ประชุมสนับสนุนข้อเสนอของไทยเพื่อจัดทำ “เป้าหมายกรุงเทพเรื่องโมเดลเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งจะเป็นเอกสารระดับผู้นำเพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนแผนงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในเอเปคอย่างเป็นระบบ โดยในที่ประชุมครั้งนี้ได้ร่วมกับหารือองค์ประกอบ ขอบเขต และโครงสร้างของเอกสารฯ และจะสานต่อการเจรจาจัดทำเอกสารฉบับนี้เพื่อให้บรรลุผลและได้รับการรับรองในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายนต่อไป

การประชุมครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นดำเนินงานของเอเปคเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยการประชุมครั้งถัดไปคือการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ มีนาคม ในรูปแบบการประชุมทางไกล และไทยตั้งเป้าจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๙-๑๙ พฤษภาคม ที่กรุงเทพฯ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ