การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ กับการส่งเสริมค้าการลงทุนที่เปิดกว้างสู่ทุกโอกาส เพื่อสานต่อไปสู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ กับการส่งเสริมค้าการลงทุนที่เปิดกว้างสู่ทุกโอกาส เพื่อสานต่อไปสู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 พ.ค. 2565

| 1,818 view

การส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างและเสรีเป็นหัวใจของเอเปค รวมทั้งเป็นแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ จึงเดินหน้าหารือประเด็นนี้ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ผ่านการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุนที่เริ่มขึ้นวันนี้จนถึงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เพื่อปูพื้นไปสู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ ๑๒ (MC12) ที่จะจัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กัน

คณะกรรมการว่าด้วยการค้าการลงทุนจัดตั้งขึ้นเพื่อสื่อสารมุมมองและเสียงสะท้อนของเอเปคต่อประเด็นการค้าการลงทุนโลก และสร้างความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิกในประเด็นที่สำคัญ มีเป้าหมายหลักเพื่อเปิดเสรีและขยายการค้า อำนวยความสะดวกการลงทุน และหารือแนวทางความร่วมมือ เพื่อให้การค้า การบริการ ทุน และเทคโนโลยีเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรีในภูมิภาค

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมจะขับเคลื่อน ๔ ประเด็นสำคัญคือ (๑) การส่งเสริมการค้าพหุภาคี โดยรับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจ ที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีการค้าเอเปคร่วมกันผลักดันให้ที่ประชุม MC12 สนับสนุนการส่งเสริมการค้าพหุภาคีเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-๑๙ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสนับสนุนความต้องการของภาคธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนเร็วตามบริบทโลก (๒) การร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเน้นหารือเพื่อพัฒนาแนวทางการทบทวนการจัดทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่คำนึงถึงบทเรียนจากโควิด-๑๙ รวมทั้ง พัฒนาการของความตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ ประกอบด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) (๓) การอำนวยความสะดวกการค้า ความเชื่อมโยง การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และนวัตกรรม และ (๔) การส่งเสริมความครอบคลุมและความยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อสานต่อความพยายามเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยสร้างความเชื่อมั่นในห่วงโซ่อุปทาน คณะกรรมการฯ ได้รับรองแนวปฏิบัติด้านพิธีการด้านศุลกากรเพื่อป้องกันสินค้าเกี่ยวเนื่องกับโควิด-๑๙ ที่ผิดกฎหมายและการจัดทำนิยามเกี่ยวกับบริการด้านโลจิสติกส์ของเอเปคเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งของวัดซีนและเวชภัณฑ์อีกด้วย

ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญคือการหารือเพื่อขับเคลื่อน FTAAP โดยไทยได้ปูพื้นบทสนทนาเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนงานการพัฒนา FTAAP และเตรียมความพร้อมสมาชิกด้วยการเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งไทยคาดหวังให้นำประเด็นนี้ไปสู่การหารือในที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเพื่อขอรับการสนับสนุน และมอบหมายคณะทำงานฯ จัดทำแผนงานหลายปีเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งสิ่งนี้จะถือเป็นผลลัพธ์แรกในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยด้วย นอกจากนี้ ไทยยังเน้นนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยไทยจะจัดการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ประโยชน์จากโมเดล BCG สำหรับ MSMEs ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ โดยเน้นแลกเปลี่ยนแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถ องค์ความรู้ และเทคนิคที่เป็นประโยชน์แก่ MSMEs และเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายภาครัฐเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์โมเดล BCG มากขึ้น พร้อมทั้งจะช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

การส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างและเสรี โดยคำนึงถึงประเด็นความท้าทายใหม่ ๆ ของโลก จะช่วยให้เอเปคได้พัฒนารูปแบบการจัดทำ FTAAP ที่มีคุณภาพ และสร้างประโยชน์อย่างครอบคลุมให้ทุกกลุ่ม การมุ่งพัฒนาศักยภาพของสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ FTAAP และความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ พัฒนา และเตรียมความพร้อมร่วมกับสมาชิกอื่น ๆ ได้โดยไม่ตกขบวน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ