รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมเตรียมการสารัตถะสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ๒๕๖๕ หารือประเด็นที่สอดคล้องกับบริบทโลกหลังโควิด-๑๙ และเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนไทย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมเตรียมการสารัตถะสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ๒๕๖๕ หารือประเด็นที่สอดคล้องกับบริบทโลกหลังโควิด-๑๙ และเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,471 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมเตรียมการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ๒๕๖๕ หารือประเด็นที่สอดคล้องกับบริบทโลกหลังโควิด-๑๙ และเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนไทย โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-๑๙ และสามารถขับเคลื่อนร่วมกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค

เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้แทนหน่วยราชการ และภาคเอกชนเข้าร่วมหารือเพื่อกำหนดหัวข้อหลัก (Theme) ประเด็นสำคัญ (Priorities) และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (Deliverables) ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

ที่ประชุมเห็นพ้องว่า หัวข้อหลักและประเด็นสำคัญของไทยจะต้องสอดคล้องกับบริบทของโลกหลังโควิด-๑๙ อยู่ในความสนใจของประชาคมโลก และเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนไทย โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำเสนอรูปแบบของผลลัพธ์ที่จะขับเคลื่อนในกรอบเอเปค ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร การเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการเกษตร การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพเอเปค ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ “BCG Model” ซึ่งไทยเห็นว่า สามารถเป็นคำตอบของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-๑๙ และสามารถขับเคลื่อนร่วมกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ซึ่งประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสีเขียว และสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ