กระทรวงการต่างประเทศจัดการถ่ายทอดสดชี้แจงโจทย์การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย ผ่านระบบทางไกล เพื่อเชิญชวนเยาวชนให้ส่งผลงานเข้าประกวดและมีส่วนร่วมในการเตรียมการสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย

กระทรวงการต่างประเทศจัดการถ่ายทอดสดชี้แจงโจทย์การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย ผ่านระบบทางไกล เพื่อเชิญชวนเยาวชนให้ส่งผลงานเข้าประกวดและมีส่วนร่วมในการเตรียมการสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 8,068 view

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการถ่ายทอดสดชี้แจงโจทย์การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย ผ่านระบบทางไกล จากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเชิญชวนเยาวชนให้ส่งผลงานเข้าประกวดและมีส่วนร่วมในการเตรียมการสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย
 
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการถ่ายทอดสดชี้แจงโจทย์การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจของผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือเอเปค การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และความคาดหวังของกระทรวงการต่างประเทศและคณะกรรมการคัดเลือกเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ โดยมีนายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ บรรยายสรุปเกี่ยวกับภาพรวม ความเป็นมาและความคาดหวังของโครงการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ฯ นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ บรรยายสรุปเกี่ยวกับเนื้อหาสารัตถะและประเด็นสำคัญของความร่วมมือเอเปคและการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย นายสยาม อัตตะริยะ นักออกแบบแห่งปี ๒๕๖๒ บรรยายสรุปเกี่ยวกับการออกแบบตราสัญลักษณ์ (ผ่านบันทึกวีดิทัศน์) และรองศาสตราจารย์อาวิน อินทรังษี รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ  คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  แนะนำกติกาและรายละเอียดการประกวด    
                                                            
ในกิจกรรมดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวสรุปว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในปี ๒๕๖๕ หลังจากที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคเมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว ในปี ๒๕๔๖ โดยจะรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไทยและภูมิภาค โดยเฉพาะต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงยุคหลังโควิด-๑๙ ซึ่งไทยหวังว่า วิกฤตโควิด-๑๙ จะคลี่คลาย และสามารถจัดการประชุมระดับภูมิภาคครั้งแรกของโลกที่ผู้นำของ ๒๑ เขตเศรษฐกิจเอเปคจะสามารถเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเองในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าที่ประเทศไทยโดยพร้อมเพรียงกัน นอกจากนี้ ยังจะมีการประชุมทั้งระดับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและอื่น ๆ ในไทยอีกกว่า ๑๐๐ การประชุม และการหารือทวิภาคีของผู้นำต่าง ๆ ในช่วงที่เดินทางมาประชุมที่ไทย และเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถแสดงศักยภาพเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงภาคธุรกิจ/MSMEs/ startups ไทยกับของเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น การจัดทำตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคจึงมีความสำคัญในการช่วยแสดงจุดเด่น ศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจ และอัตตลักษณ์ของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในภูมิภาคและในโลก ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งที่แล้วเมื่อปี ๒๕๔๖ ได้จัดทำตราสัญลักษณ์ที่มีภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นองค์ประกอบ โดยได้จัดแสดงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคให้ผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปคครั้งนั้นได้ชื่นชมกับความงามอันยิ่งใหญ่ตระการตาและทรงคุณค่าทางศิลปะของกระบวนเรือด้วย
 
การจัดทำตราสัญลักษณ์เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของการเตรียมการการเป็นเจ้าภาพเอเปค ปี ๒๕๖๕ ของไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการเป็นเจ้าภาพได้จัดการประกวดตราสัญลักษณ์ขึ้น โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้โครงการประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ (5th National Youth Design Awards) ของมหาวิทยาลัยฯ โดยกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้ของไทย จึงได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมเป็นเยาวชนไทยอายุไม่เกิน ๒๕ ปี ซึ่งได้ประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ที่ผ่านมา และในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ จะมีการนําเสนอ ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกต่อคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อตัดสินรางวัลชนะเลิศ 
 
สำหรับหลักเกณฑ์และความคาดหวังของกระทรวงการต่างประเทศและคณะกรรมการคัดเลือกต่อตราสัญลักษณ์นั้น ตราสัญลักษณ์ควรสะท้อนความเป็นไทยและอัตลักษณ์ของไทยร่วมกับความเป็นเอเปค แสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและประเด็นสำคัญ (Priorities) และสาขาความร่วมมือที่ไทยผลักดัน (Key Areas) ในวาระการเป็นเจ้าภาพฯ ควบคู่กันไป โดยเอเปคอาจมีความเป็นสากลและเชิงธุรกิจ (businesslike) มากกว่าอาเซียน และวาระของเอเปคก็เน้นด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ไทยต้องการผลักดันมี ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ (๒) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และ (๓) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และสาขาที่ไทยให้ความสำคัญมี ๕ สาขา ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (๒) การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล (๓) สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (well-being) (๔) ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และ (๕) การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ อีกทั้งโดยที่ไทยได้ประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green – BCG Economy) เป็นวาระแห่งชาติและยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙ การดำเนินการของไทยในกรอบเอเปค จึงต้องตอบสนองต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างเป็นองค์รวมด้วย 
 
นอกจากนี้ ตราสัญลักษณ์ควรสะท้อนแนวโน้มสถานการณ์ภูมิภาคและสถานการณ์โลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ การข้ามผ่านวิกฤติ การมองไปข้างหน้า (forward looking) และการเสริมสร้างความยืดหยุ่น (resilience) ให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่อาจคาดการณ์ไม่ได้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (ดังเช่นโควิด-๑๙) เพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ขณะเดียวกัน หากตราสัญลักษณ์สามารถสื่ออัตลักษณ์ จุดเด่นและเรื่องราวของประเทศไทยในบริบทของเอเปคได้ ตราสัญลักษณ์ยังจะช่วยสร้างความตระหนักรู้และความรู้สึกร่วมของคนในประเทศได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
 
เยาวชนผู้สนใจเข้าร่วมการประกวดสามารถสมัครและส่งผลงานตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยสามารถสมัครเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบคู่ ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า ๔๕๐,๐๐๐ บาท ได้แก่                      
- รางวัลชนะเลิศ ๑ รางวัล รางวัลละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท 
- รางวัลรองชนะเลิศ ๔ รางวัล รางวัลละ ๕๐,๐๐๐ บาท 
- รางวัลชมเชย ๕ รางวัล รางวัลละ ๒๐,๐๐๐ บาท
 
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทยได้ที่ https://www.mfa.go.th/th/content/logoapecth?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d
และติดตามรับชมการถ่ายทอดสดการแถลงข่าว/ชี้แจงโจทย์การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ครั้งนี้ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/1243310649421272/?vh=e&extid=0&d=n

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

Presentation_by_DDG_of_International_Economic_Affairs.pdf
Presentation_by_Silpakorn_University.pdf